พอเลี้ยงลูกมาสักพัก คุณแม่จะเริ่มมีคำถามว่าทั้งๆ ที่เลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดีแล้ว ทำไมลูกรักถึงน้ำหนักไม่ขึ้นล่ะ? ปัญหานี้มีหลายสาเหตุด้วยกัน จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ
ลูกได้กินนมแม่หรือไม่
ลองสำรวจดูว่าลูกได้กินนมแม่หรือไม่ เพราะในช่วง 2-3 เดือนแรก ทารกที่กินนมแม่ล้วน ๆ และมีสุขภาพดี จะโตเร็วกว่าทารกที่กินนมผสม ดังนั้นถ้าเป็นไปได้อยากให้คุณแม่เป็นคนที่ให้นมลูกเป็นหลักจะดีที่สุดค่ะ
ลูกห่วงเล่นมากเกินไปหรือไม่
ช่วง 4 เดือนขึ้นไป เด็กจะห่วงเล่นมากขึ้น สนใจการกินน้อยลง ถ้ากำลังดูดนมอยู่ แล้วใครส่งเสียงขึ้นมา หรือ เดินผ่าน หรือ เข้ามาเล่นด้วย ลูกจะหยุดดูดนมทันที เพื่อผละออกมาเล่น จะไม่กินจนกระทั่งอิ่มเป็นมื้อ แต่จะดูดแค่ช่วงสั้นๆ พอหายหิวค่ะ
ลูกเลือกกินมากเกินไปหรือไม่
การที่ลูกเลือกกินและน้ำหนักไม่ขึ้นเช่นนี้ ให้คุณแม่ลองสังเกตดูสิว่า อาหารที่ลูกกินเข้าไปนั้นเป็นอาหารประเภทใด เพราะหลักๆ แล้วสารอาหารสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่ให้พลังงานมาก เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล เนื้อสัตว์ และกลุ่มที่ให้พลังงานน้อย เช่น ผัก ผลไม้ ฯลฯ ถ้าลูกเลือกกินเฉพาะอาหารให้พลังงานน้อย ก็จะทำให้มีน้ำหนักตัวน้อย เพราะผักและผลไม้จะเป็นกลุ่มที่มีกากใยมากแต่ให้พลังงานน้อย แถมไม่มีพลังงานที่สำคัญอีกต่างหาก และถ้าสังเกตจะเห็นว่าส่วนใหญ่เด็กที่ไม่ชอบเนื้อสัตว์จะกินผัก ส่งผลให้ดูเหมือนผอมได้ค่า
ลูกกินอาหารได้คุณภาพและปริมาณเหมาะสมหรือไม่
ถ้าลูกกินอาหารได้ตามคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสมแล้วพบว่า น้ำหนักตัวอยู่ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หรือ 50% คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจเลยค่ะ นั่นแสดงว่า เป็นคนที่มีรูปทรงสมส่วน ไม่อ้วนง่าย หุ่นดี หุ่นเหมือนนางเอก พระเอก แต่ถ้าใครน้ำหนักมากกว่าค่าเฉลี่ย จะเริ่มดูตุ้ยนุ้ย ดูอ้วน อยากให้ลูกมีหุ่นแบบไหน ต้องเลือกเอาค่ะ
แล้วจะมีวิธีเพิ่มน้ำหนักให้กับลูกได้อย่างไรบ้าง
- สังเกตอาหาร คุณแม่ควรเปรียบเทียบปริมาณอาหารและกิจรรมที่ลูกทำว่า ลูกกินอาหารน้อยกว่าการใช้พลังงานหรือไม่ หากกินอาหารพลังงานน้อย คุณแม่ควรเพิ่มปริมาณให้มากขึ้น อย่างเช่น เนื้อ นม ไข่ เป็นต้น
- ปรับวิธีการปรุง วิธีการปรุงอาหารสำหรับเจ้าตัวเล็กที่น้ำหนักน้อย เช่นจากที่คุณแม่เคยแต่ต้มและตุ๋นบ่อยๆ ก็อาจจะเพิ่มอาหารผัดมากขึ้น หรือทอดน้ำมันท่วมบ้าง ส่วนใหญ่ลูกอายุ 1 ปีขึ้นไป ก็เริ่มกินอาหารทอดได้แล้ว แต่คุณแม่ควรระวังเรื่องระบบย่อยของลูกด้วยนะคะ
- เพิ่มส่วนผสม วัตถุดิบบางอย่างก็มีผลต่อการเพิ่มน้ำหนักของลูก หากคุณแม่เพิ่มส่วนผสมของอาหารที่ให้ลูกกินด้วยนม เนยสด แป้ง หรือน้ำตาลบ้าง ก็จะช่วยเพิ่มน้ำหนักลูกได้พอสมควร เช่น ที่เคยกินแต่ก๋วยเตี๋ยวน้ำใส ก็ลองให้ลูกกินผัดซีอิ๊วดูบ้างค่ะ
- จัดอาหารมื้อว่าง นอกจากอาหารมื้อหลักแล้ว คุณแม่ได้จัดอาหารมื้อว่างให้ลูกบ้างหรือเปล่าคะ เพราะบางทีลูกอาจจะกินอาหารหลัก 3 มื้อน้อยอยู่แล้ว การที่คุณแม่แบ่งให้มีมื้ออาหารว่าง เช่น แซนด์วิชง่าย ๆ กับนม หรือเครื่องดื่มปั่นที่มีส่วนผสมของนมหรือน้ำหวาน ก็จะเป็นการเติมพลังงานที่เสียไประหว่างมื้อให้ลูกได้ค่ะ
เมื่อรู้สาเหตุของน้ำหนักลูกที่น้อยลงแล้ว ลองนำวิธีมาปรับใช้กันดูนะคะ
ที่มา