เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คาใจแม่ๆ หลายคนว่า จริงๆ แล้วเราสามารถให้เบบี๋ที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน ดื่มน้ำได้หรือไม่ ถึงแม้เราจะหยดน้ำเปล่าให้ลูกกินเพื่อล้างปากเด็กก็เป็นอันตรายจริงๆ ใช่ไหม วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยไปพร้อมๆ กันค่ะ
ผลสำรวจพบว่า
แม่หรือผู้ดูแลของเด็กเล็กร้อยละ 86.4 เคยให้ทารกดื่มน้ำในช่วงก่อนอายุ 6 เดือน โดยเหตุผลหลักๆ ได้แก่
- ร้อยละ 55 เพื่อล้างปาก
- ร้อยละ 21.7 คิดว่าการกินน้ำเป็นเรื่องปกติ
- ร้อยละ 15.6 คนที่ดูแลเด็กให้กิน
- ร้อยละ 10.7 คิดว่ากินแล้วทำให้ทารกไม่มีอาการตัวเหลือง
- ร้อยละ 10.1 คิดว่าช่วยเรื่องระบบขับถ่าย
- ร้อยละ 5.9 คิดว่าช่วยให้ผิวชุ่มชื้น
- ร้อยละ 4.1 คิดว่าทารกอาจหิวน้ำ
- ร้อยละ 3.7 คิดว่าทารกกินนมผสม
- ร้อยละ 2.7 ป้องกันอาการลิ้นเป็นฝ้า, กินเมื่อมีอาการสะอึก
- ร้อยละ 2.1 ได้รับคำแนะนำจากหมอ พยาบาล
- ร้อยละ 2 คิดว่าการกินน้ำเพื่อบำรุงสายตา, มีคนแนะนำ
- ร้อยละ 1.9 ทารกกินยา
- ร้อยละ 1.6 ทารกเริ่มกินอาหารแล้ว
- ร้อยละ 4.3 เหตุผลอื่นๆ
ทำไมเด็กควรกินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำ
- ในตัวเด็กเล็กมีปริมาตรน้ำในตัวสูงถึง 75% ซึ่งมากกว่าผู้ใหญ่ที่มีแค่ 55-60% เท่านั้น
- เด็กๆ ได้รับปริมาตรน้ำเพียงพอจากนมแม่แล้ว ไม่จำเป็นต้องกินน้ำตาม
- ไตของเด็กยังขับน้ำส่วนเกินได้ไม่ดีเหมือนผู้ใหญ่
- เด็กจะได้รับน้ำมากเกินไป นอกจากการให้กินน้ำแล้ว ยังรวมถึงการชงนมจาง ที่ใส่น้ำมากกว่าที่ควรจะเป็น จนไตขับออกไม่ได้ จึงทำให้ระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ จนทำให้เด็กซึมลง ชัก หมดสติ จนถึงเสียชีวิตได้จากภาวะ Water intoxication ถือว่าอันตรายมากๆ ค่ะ
- นอกจากอันตรายแล้วการกินน้ำ ทำให้เด็กอิ่มเร็วและกินนมน้อยลง ส่งผลให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์
- มีโอกาสติดเชื้อทางเดินอาหารจากความไม่สะอาดของภาชนะและน้ำกรองที่ไม่ได้ผ่านการต้มน้ำก่อน
“เพราะฉะนั้นเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนได้รับน้ำจากนมแม่ก็เพียงพอแล้วค่ะ”
อ้างอิง : พญ.สินดี จำเริญนุสิต, KomChadLuek Online, MGR ONLINE