การที่พ่อแม่ทะเลาะกันไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่ก็ตาม คนที่เป็นลูกจะได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เพราะลูกเป็นคนที่ต้องยืนอยู่ตรงกลางระหว่างพ่อกับแม่ โดยเฉพาะลูกในวัยเด็กที่ยังไม่เข้าใจการกระทำต่างๆ มากนัก ก่อให้เกิดความเครียดแบะความกดดัน ไปดูกันว่าการที่พ่อแม่ทะเลาะกันส่งผลกระทบในระยะยาวต่อตัวเด็กอย่างไรบ้างค่ะ
1. ลูกไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
อาจกลายเป็นเด็กก้าวร้าว ชอบใช้กำลัง บางครั้งเงียบเก็บกด การโต้เถียงระหว่างคุณพ่อและคุณแม่จะเป็นตัวอย่างให้ลูกแสดงออกด้านอารมณ์ที่ผิดๆ เพราะเขาจะซึมซับอารมณ์และความขัดแย้งอย่างไม่รู้ตัว ทำให้มีจิตใจแข็งกระด้าง ไม่มั่นคง จนกลายเป็นเด็กเก็บกด
2. เด็กโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง
หลายครั้งที่เด็กมักจะรู้สึกว่าปัญหาของพ่อแม่เกิดจากตัวเองยังไม่ดีพอ และโทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง อาจกลายเป็นคนไม่เชื่อใจผู้อื่นส่งผลให้เด็กมองข้ามการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จนทำให้เด็กไม่มีเพื่อน
3. ลูกมีพัฒนาการช้าอย่างเห็นได้ชัด
แม้ว่าลูกจะนอนหลับ แต่สมองของเขาก็ยังเปิดรับและจดจำเสียงเหตุการณ์ขณะพ่อกับแม่ทะเลาะกัน และรับรู้ถึงอารมณ์โกรธเกรี้ยวนั้นได้ โดยเมื่อรู้สึกเครียดและกดดัน ร่างกายของเขาจะหลั่งฮอร์โมน cortisol ซึ่งหากมีฮอร์โมนนี้มากเกินไปจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง IQ และ EQ
4. ลูกมีปัญหาในการเข้าสังคม
บาดแผลในจิตใจที่เห็นความรุนแรงจะเป็นปมที่อยู่กับเขาไปตลอดหากไม่ได้รับการเยียวยา เพราะเมื่อเขามีพฤติกรรมเก็บกดและไม่วางใจคนอื่นก็จะไม่สามารถเปิดใจสู่การเข้าสังคมได้
5. ลูกขาดความมั่นใจ
ลูกจะรู้สึกไม่มั่นคงหรือปลอดภัยแม้จะอยู่ในบ้าน จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง และไม่เชื่อใจผู้อื่น ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง เนื่องจากเด็กอาจรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ
การทะเลาะกันไม่จำเป็นต้องเป็นการโต้เถียงที่รุนแรงหรือถึงขึ้นใช้กำลัง แต่แค่การพูดจาถากถาง ไม่ให้เกียรติกัน หรือโต้เถียงกันเล็กน้อย พฤติกรรมเหล่านี้ก็สามารถส่งผลกระทบต่อลูกได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว คุผณพ่อคุณแม่ควรสงบสติอารมณ์ก่อนมาคุยกัน
ในกรณีที่เผลอทะเลาะกันต่อหน้าลูก อย่าลืมปลอบลูกใจด้วย โดยอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าพ่อกับแม่มีปัญหาเข้าใจผิดกันเล็กน้อย แต่ตอนนี้กลับมารักกันเหมือนเดิมแล้ว เพื่อไม่ให้ลูกขวัญเสีย และที่สำคัญคือพยายามอย่าทำให้ลูกเห็นอีกค่ะ
ที่มา – rakluke