แม้ว่าการหย่าร้าง แยกทางกัน จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นส่งตรงถึงลูกด้วยอย่างปฎิเสธไม่ได้ ในเรื่องของจิตใจหากเกิดขึ้นแล้วทำให้มีผลโดยตรงถึงพฤติกรรมในอนาคต
เพื่อไม่ให้ปัญหาของผู้ใหญ่สร้างรอยร้าวในใจกับเด็ก เรามาดูกันค่ะ ว่าพ่อแม่จะต้องจัดการกับความรู้สึกของลูกอย่างไร เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต
ให้ความมั่นใจว่า “ลูก ไม่ใช่สาเหตุ”
เด็กก็ยังเป็นเด็ก ยังมีความคิดที่ไม่ลึกซึ้ง ทำให้ส่วนมากจะเข้าใจว่าตัวเองเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่แยกทางกัน ไม่ว่าจะเป็น เพราะตัวเองเป็นเด็กดื้อ เป็นลูกที่ไม่ดี
คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจกับลูกว่า เด็กไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินแยกทางกันของพ่อแม่ อีกทั้งยังต้องให้ความมั่นใจว่า คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถให้ความรักเค้าได้เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
บอกกันตั้งแต่เนิ่นๆ
หากเราบอกลูกถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นการป้องกันผลกระทบต่อจิตใจของเด็กที่ดีที่สุด โดยเวลาที่เหมาะสมก็คือ ก่อนแยกที่พ่อแม่จะแยกทางกัน 6 เดือน – 1 ปี และควรบอก อย่างจริงใจ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง กับลูกตั้งแต่วัยประถมเป็นต้นไป เพราะอยู่ในวัยที่รับรู้เข้าใจความหมายของภาษาแล้ว
ไม่เปลี่ยนความเป็นอยู่ ทำทุกอย่างให้เป็นเหมือนเดิม
การที่พ่อและแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันอีกต่อไป ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มากพอแล้วสำหรับเด็กคนหนึ่ง ดังนั้นในระยะแรก หากเราเปลี่ยนสิ่งอื่นอีกก็จะยิ่งทำให้เด็กปรับตัวได้ยากขึ้น อย่างโรงเรียนก็ยังสามารถให้เค้าเรียนที่เดิมได้อยู่ ให้เค้าได้มีสังคมเดิม ทำกิจกรรมที่ชอบเหมือนเดิม เพื่อให้ลูกปรับตัวได้ง่ายขึ้น
ไม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก
ความขัดแย้งของพ่อแม่ไม่ควรเกิดขึ้นต่อหน้าลูก การที่พ่อแม่เสียงดังใส่กัน ลงไม้ลงมือต่อหน้าหน้าลูกทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย
เข้าใจความรู้สึกที่อ่อนไหวของลูก
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ลูกจะมีคำถามมากมาย อย่าง ทำไมแม่กับพ่อไม่คุยกัน ทำไมพ่ออยู่บ้าน คุณแม่ (หรือคุณพ่อ) ควรตอบคำถามของลูก อย่าปฎิเสธที่ตอบสิ่งเหล่านี้ และอธิบายให้ลูกเข้าใจเท่าที่ทำได้
อีกทั้งต้องหาทางรับมือกับความรู้สึกที่อ่อนไหว และอาการต่อต้านด้านอื่นๆ ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่แค่พ่อกับแม่ที่เจอกับความเปลี่ยนแปลง ตัวลูกเองก็กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงไม่ต่างกัน
ให้โอกาสทั้งสองฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตัวเอง
เชื่อว่าในความเป็นพ่อแม่ย่อมมีความรักลูกไม่น้อยไปกว่า ไม่ว่าลูกจะอยู่กับใคร ควรเปิดโอกาสให้ต่างฝ่ายต่างได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ อย่างในงานวันพ่อ ก็เปิดโอกาสให้พ่อไปร่วมงานของโรงเรียนลูกได้ หากลูกต้องพบเมื่อไหร่ก็สามารถนัดหมายเพื่อพบปะกันได้ตามปกติ
#ทีมลูก ให้ความรักและความใส่ใจไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่ว่าเด็กจะอยู่กับใครก็ตาม และไม่คุณพ่อคุณแม่จะขัดแย้งกันมากแค่ ให้นึกไว้ว่าทั้งสองคนเป็น #ทีมลูก ที่จะคอยซัพพอร์ตเสมอไม่ว่าลูกจะทำอะไร และยังคงมีความให้กันไม่เปลี่ยนแปลง