เด็กๆ วัย 0-3 ปี บางครั้งเองก็ชอบแกล้งหรือทำร้ายคนอื่นๆ เช่น ปาของใส่ หรืออยู่ดีๆ ก็มาตี หรือกัดเพื่อน โดยที่เราเองก็สงสัยนะคะว่า ที่ลูกทำไปนั้นเขาตั้งใจหรือไม่ตั้งใจกันแน่ เพราะเวลาเขาทำสิ่งเหล่านั้นเขามักจะสนุกสนานกับมัน หัวเราะคิกคัก หากบ้านไหนเป็นแบบนี้วันนี้เรามีวิธีการสอนที่ถูกต้อง “จากคุณหมอ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยา” มาฝากกันค่ะ มาดูกันว่าพ่อแม่อย่างเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ไปดูกันเลย!
ทำไมเด็กช่วง 0-3 ขวบ ถึงชอบทำร้ายคนอื่น แบบไม่มีสาเหตุ
- เป็นวัยที่ยังสื่อสารได้ไม่ดี ยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
- อยู่ในวัยที่ทดสอบร่างกายว่าเขาทำอะไรได้บ้าง
- เป็นการเรียกร้องความสนใจ ให้คนเล่นกับเขา
สอนเด็กๆ ได้อย่างไรบ้าง
ก่อนเริ่มสอน : สร้างสายสัมพันธ์กับเขาก่อนที่จะสอน
เด็กๆ มักอยากทำเพื่อคนที่เขารัก หากอยากที่จะสอนอะไรกับลูกสักอย่าง คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับลูกก่อน ทำให้ลูกรู้ว่าเรามีความสำคัญกับเขา จะทำให้เด็กๆ ทำตามสิ่งที่เราสอนได้อย่างง่ายๆ เลยค่ะ เช่น อ่านนิทาน เล่นด้วยกัน หอม กอด เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 1 : ตั้งกติกาให้ชัดเจนระหว่างลูก
ก่อนอื่นเลยคนในบ้านต้องรู้และปฏิบัติในเรื่องการสอนในทิศทางเดียวกันเสียก่อน โดยกติกาในบ้านอาจจะเริ่มจาก กฎ 3 ข้อ นั่นก็คือ ห้ามทำร้ายผู้อื่น ห้ามทำร้ายตนเอง และห้ามทำลายข้าวของ ช่วงแรกๆ เด็กๆ อาจจะยังไม่เข้าใจ แต่เชื่อเถอะว่าตั้งกติกาไว้ให้เข้าใจตรงกันดีกว่า เพื่อไม่ให้เขาสับสนได้ง่ายๆ
ขั้นตอนที่ 2 : หากลูกทำผิดกติกาดังกล่าว ต้องสอนเขาทันที
1. กรณีทำร้ายคนอื่นโดยเจตนา
- ให้เราเข้าไปจับมือเขาทันทีพร้อมมองตาและบอกว่า “ไม่ตีนะครับ/ค่ะ”
- แต่หากยังอาละวาดต่อหรือหนักขึ้น ให้พาลูกออกมาทันที แล้วหาที่นั่งสงบๆ พร้อมบอกเขาว่า “ไม่ตีนะครับ/ค่ะ” เมื่อเขาพร้อมฟังและสงบลงให้บอกเขาว่า “ถ้าพร้อมแล้วนับ 1-10 ตามนะลูก” ค่อยๆ นับจนถึง 10 (การนับ 1-10 เป็นการตรวจสอบความพร้อมว่าเขาพร้อมฟังเราหรือไม่และสงบจิตใจลงแล้วหรือยัง)
- เมื่อลูกสงบแล้วให้สอนเขาว่า “หากลูกอยากตีให้มาหาพ่อกับแม่นะ เดี๋ยวพ่อกับแม่จะช่วยหาที่ให้ลูกปล่อยพลังเอง”
2. กรณีทำร้ายคนอื่นโดยไม่เจตนา
เด็กเล็กมักมีปัญหากับการสื่อสาร ทำให้บางทีเขาอาจจะแสดงพฤติกรรมที่เขาใช้ร่างกายตอบสนองเพราะทันใจกว่า ทำให้เรามักเห็นเด็กเล็กมักจะขว้าง หยิก กัด ตี ที่รวดเร็วมาก นอกจากนี้เด็กเล็กมีพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่และเล็กที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ควบคุมยาก จริงๆ เขาแค่อยากมาจับหยิบ แต่มันกลายเป็นแรงจนกลายเป็นทำร้ายผู้อื่นหรือสิ่งอื่นๆ ได้โดยไม่ได้เจตนานั่นเองค่ะ
สิ่งที่เราควรสอนเขาในกรณีนี้นั่นก็คือ
- พาเขาจับหรือสัมผัสอย่างแผ่วเบา เช่น ลูกอยากเรียกพี่ แล้วไปตีพี่ ให้เราจับมือเขาแล้วสอนเขาพูดว่า “พี่ๆ ” แล้วค่อยๆ เอามือลูกไปสัมผัสหลังพี่เบาๆ หรือลองให้เขาสัมผัสมือเราเบาๆ ก่อนก็ได้เช่นกันค่ะ
- สอนผ่านการเก็บของเล่น โดยลองให้เขาเก็บของอย่างเบามือ เพื่อให้เขาจดจำน้ำหนักมือและลักษณะการสัมผัสได้นั่นเอง
- สอนให้ลูกขอโทษและรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ เช่นเข้าไปขอโทษ เข้าไปกอด หรือหากเด็กไม่ยอมทำ เราจับมือเขาทำได้ ทำเรื่อยๆ เด็กก็จะเข้าใจในวันข้างหน้าอย่างแน่นอนค่ะ
ขั้นตอนที่ 3 : สอนลูกให้สื่อสารให้เป็น
เด็ก 0-3 ขวบ มักจะยังสื่อสารได้ไม่ดี ทำให้เขาใช้การทำร้าย การตี การปาข้าวของ เพื่อเรียกร้องความสนใจหรือพยายามทำให้คนอื่นๆ มาเล่นกับเขา วิธีการเพิ่มทักษะการสื่อสารให้ลูกง่ายๆ เช่น
- เมื่อลูกตีเพื่อนเพราะอยากให้สนใจ ให้เราจับมือเขาทันทีเมื่อเขาตี แล้วพูดว่า “ไม่ตีครับ/ค่ะ อยากเล่นกับเพื่อนให้พูดว่า …มาเล่นกัน”
- อย่าให้ท้ายเด็ก ไม่ยิ้มหรือหัวเราะกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้ทำหน้านิ่งและมีน้ำเสียงที่จริงจัง แต่ไม่ตะคอกหรือขึ้นเสียง อย่าคิดว่าความเป็นเด็กก็ปล่อยไปเถอะ เพราะสิ่งนี้อาจจะทำให้เด็กเข้าใจอะไรผิดๆ ได้เลยนะคะ
ขั้นตอนที่ 4 : ไม่ปล่อยผ่าน สอนทุกครั้งเมื่อมีโอกาส
เมื่อไหร่ที่รู้ว่าลูกทำผิดกติกาที่เราตั้งไว้ อย่าปล่อยผ่าน เพราะเด็กจะเคยชินและคิดว่าทำผิดไปก็ไม่มีใครทำอะไร แล้วเขาก็จะทำผิดครั้งต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้การสอนสำหรับเด็กบางคนอาจจะใช้เวลาเรียนรู้นาน แต่เชื่อเถอะค่ะว่าหากเราสอนไปเรื่อยๆ ทุกครั้งเมื่อมีโอกาสเขาก็จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างแน่นอน
ขั้นตอนที่ 5 : เพิ่มพื้นที่ให้ลูกได้ลองปล่อยพลัง
เพราะเด็กมักจะซุกซนเป็นธรรมชาติของพวกเขา เราควรมีพื้นที่ให้เขาได้เล่นซุกซนให้สมกับที่เขาเป็นเด็กด้วย อย่าห้ามซะจนเกินไป เพราะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอาจจะเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน วิธีหาพื้นที่ปล่อยพลังง่ายๆ เช่น การเล่นทราย วิ่งเล่นในพื้นที่กว้างๆ พื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการกระโดด เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : Thai PBS Kids, เมริษา ยอดมณฑป