คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนอาจเคยได้ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (ฺBaby Blues) ซึ่งเป็นภาวะที่คุณแม่จะมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากเห็นหน้าลูกกันมาบ้าง แต่รู้ไหมคะว่าอาการแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับแค่คุณแม่เท่านั้น คุณพ่อก็สามารถมีอาการซึมเศร้าแบบนี้ได้เช่นกัน
วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมารู้จักและทำความเข้าใจภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในคุณพ่อกันค่ะ เผื่อคุณพ่อบ้านไหนมีอาการแบบนี้ จะได้ช่วยกันดูแลใจได้ถูกต้อง
Daddy Blues ซึมเศร้าหลังคลอดในคุณพ่อ
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในคุณพ่อ สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณพ่อที่ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด จึงอาจทำให้เกิดสภาวะผิดปกติทางจิตใจ และเกิดภาวะซึมเศร้าในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังลูกคลอด ซึ่งอาการส่วนใหญ่ก็คือ
- ทำตัวห่างเหินกับแม่และลูก : ไม่ค่อยมาพูดคุยหรือเล่นกับลูก ไม่ยอมมองหน้าหรือมองหน้าลูกอยู่ดีๆ จู่ๆ ก็มีน้ำตาคลอได้
- หงุดหงิดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน : สภาวะทางอารมณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยเป็นคนอารมณ์ดีก็เริ่มหงุดหงิดง่าย รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
- ไม่สนุกกับสิ่งที่เคยชอบ : เมื่อก่อนอาจชอบเล่นเกมมาก แต่จู่ๆ ก็หมดความสนใจ รวมไปถึงไม่สนใจในเรื่องเพศด้วย
- ทำงานหนักขึ้น : คุณพ่ออาจใช้เวลาอยู่ที่ทำงานนานกว่าเดิม ทำงานหนักขึ้นกว่าที่เคย
- มีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว
สาเหตุเกิดจากอะไร ?
การที่คณพ่อมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดนั้น เป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจากการตั้งครรภ์ของคุณแม่จนกระทั่งคุณแม่คลอดลูก โดยระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง และระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น ทำให้ฮอร์โมนมีความผันผวน อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่เกิดขึ้นจากการอดนอนเมื่อเป็นคุณพ่อมือใหม่อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวเมื่อต้องมาเป็นคุณพ่อ หลักๆ คือ รับความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน จึงทำให้มีความเครียดจากบทบาท ฐานะและความรับผิดชอบใหม่ในชีวิต รู้สึกแบกรับความกดดันที่มากเกินไป อยากจะช่วยดูแลลูกแต่ก็ไม่รู้จะช่วยยังไง จึงกลัวและกังวลว่าจะทำได้ไม่ดี ที่สำคัญปัญหาทางด้านการเงินก็มีส่วนสำคัญ เพราะเมื่อมีลูกก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น หากวางแผนการเงินมาไม่ดี ก็อาจส่งผลกระทบต่อจิดใจได้
Daddy Blues จะดูแลยังไงได้บ้าง ?
อันดับแรกคือต้องสำรวจตัวเอง และยอมรับถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้ได้ อย่าคิดว่าตัวเองเป็นหัวหน้าครอบครัวต้องห้ามอ่อนแอ เพราะคุณพ่อก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึก และอย่าลืมว่าเรามีคนที่พร้อมซัพพอร์ต นั่นคือคนในครอบครัวอยู่เสมอ เมื่อยอมรับตัวเองได้แล้วก็ควรจูงมือกันไปปรึกษาจิตแพทย์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
ซึ่งอาการนี้ไม่สามารถหายได้ด้วยตัวคนเดียว คุณแม่จึงมีส่วนสำคัญมากที่จะช่วยซัพพอร์ตความรู้สึกของคุณพ่อ ต้องพูดคุยกันบ่อยๆ คุยกันให้มากเท่าที่จะมากได้ ที่สำคัญคุณแม่ต้องชื่นชมในสิ่งที่คุณพ่อทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างช่วยหยิบผ้าอ้อม ช่วยหยิบขวดนม เพราะการดูแลความรู้สึกกันจะช่วยให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่มีกำลังใจในการเลี้ยงลูก
คุณพ่อต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เลือกทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงให้เวลากับตัวเองบ้าง เช่น ทำในสิ่งที่ชอบ ออกไปเจอเพื่อน และอาจมีการพูดคุยกับคุณพ่อคนอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและวิธีในการเลี้ยงลูกให้กันและกัน
และคุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดทั้งในคุณแม่และคุณพ่อนั้น สามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกได้ด้วย เช่น พฤติกรรม สังคม และจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นผลกระทบนี้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบ ไปจนถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น
ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่กำลังมีอาการซึมเศร้า ต้องรีบรักษานะคะ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เราจะได้กลับมาเข้มแข็ง พร้อมที่จะเลี้ยงเจ้าตัวเล็ก และประคองชีวิตคู่อย่างมีความสุขนะคะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก