Parents One

BBL เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่การท่องจำ บทเรียนจากการเล่นสนุก สอนเด็กให้ลงมือทำจริง

หลายคนอาจคิดว่า วัยที่เราจะสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด ก็คือ “วัยเด็ก” เพราะสมองมักจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา นั่นเป็นความเชื่อที่ผิดอีกความเชื่อหนึ่งที่เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนเริ่มทำความเข้าใจใหม่ เพราะว่ากาารเรียนรู้ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุ หรือวัยใดก็ตาม

วันนี้เราเลยจะมาบอก “เคล็ดลับพัฒนาการเรียนรู้ของลูกรักตามวิธี Brain-based Learning” หรือเรียกย่อๆ ว่า BBL ซึ่งก็คือ การใช้สมองเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กๆ เห็นถึงศักยภาพของตัวเองอย่างแท้จริง มีทั้งหมด 6 ข้อ เพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเองต่อไปในเส้นทางที่พวกเขาตัดสินใจเลือกอย่างดีแล้วนั่นเองค่ะ

ขั้นที่ 1 : สมองต้องการทั้งอาหารกาย และอาหารใจ

นอกจากร่างกายแล้ว สมองก็ต้องการสารอาหารเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ เช่นกัน แถมยังต้องการอาหารใจ ซึ่งก็คือ ประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่มักจะเกิดขึ้นแต่กต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละคนที่ถูกหล่อหลอมมาให้แตกต่างกันตามแต่ละคน

ซึ่ง “อาหารใจ” นั่นได้แก่ ความรัก ความอบอุ่น ความสนุกสนาน ความท้าทาย ความตื่นเต้น ความน่าประทับใจ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนแตกต่างกันไป

ดังนั้น เด็กจะเติบโตขึ้นมาแล้วมีนิสัยอย่างไร อาหารใจ สภาพแวดล้อม อารมณ์ที่เหมาะสม ตลอดจนการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เช่น การนอนหลับให้สนิท ยังทำให้สมองจัดระเบียบสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวันให้ออกมาอย่างดีอีกด้วย ปัจจัยทั้งหมดจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้น ทำให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์นั่นเองค่ะ

 

ขั้นที่ 2 : สมองถูกเร้าจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 และจิตใจ

การที่เด็กๆ มี “การเรียนรู้” ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 นั่นก็คือ หู ตา จมูก ลิ้น กายสัมผัส รวมทั้งจิตใจ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ในด้านต่างๆ ของเด็กได้เป็นอย่างดี

สิ่งเร้าที่น่าสนใจ ก็จะยิ่งทำให้สมองตื่นตัว ซึ่งเมื่อเด็กๆ สนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สมองก็มักจะสั่งการให้เราจดจำสิ่งนั้นได้นานกว่าการท่องจำ แต่เป็นความรู้ในหน่วยความจำของสมองที่เด็กเข้าใจ และอยากที่จะเรียนรู้

รวมทั้งสามารถเก็บบันทึกภาพไว้ในสมองส่วนความจำ และสามารถเรียกกลับมาใช้ใหม่ หรือทำพฤติกรรมเลียนแบบซ้ำจากสิ่งที่เด็กเคยเห็น เพื่อให้เขาได้ต่อยอดให้กลายเป็นประสบการณ์ดีๆ ของเด็กต่อไปค่ะ

 

ขั้นที่ 3 : สมองจะเรียนรู้และจดจำได้ดี เมื่อสมองส่วนอารมณ์เปิด

สมองส่วนกลาง (Limbic System) ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความโกรธ ความกลัว และสัญชาติญาณในการเอาตัวรอด โดยสมองส่วนนี้จะเริ่มพัฒนาตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 5-6 เดือน จนถึงช่วงปฐมวัย

ซึ่งมักจะได้รับการกระตุ้นด้วยความสนุก ซาบซึ้ง ตื่นเต้น และท้าทาย ถือว่าเป็นสมองที่จะขับเคลื่อนการเรียนรู้ หากสมองส่วนลิมบิกเปิดเต็มที่ ก็จะยิ่งทำให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้นเช่นกันค่ะ เช่น การที่เด็กๆ ได้วิ่งเล่นกับเพื่อน ได้ปีนป่ายเครื่องเล่นต่างๆ ตามที่ใจที่ใจตัวเองต้องการ เป็นต้น

ดังนั้น อารมณ์จึงมีผลต่อการเรียนรู้โดยตรงของเด็ก เพราะเมื่อเด็กมีความสุข ก็มักจะเกิดการเรียนรู้ไม่จำกัดนั่นเอง

 

ขั้นที่ 4 : สมองมีการเรียนรู้ 2 อย่าง คือ ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ

สมองของคนเรามักจะมีการเรียนรู้ 2 อย่าง คือ อย่างตั้งใจ (บังคับ) และไม่ตั้งใจ (ไม่บังคับ) ซึ่งแน่นอนว่าการที่สมองได้เรียนรู้แบบไม่ตั้งใจ จะทำให้เด็กเกิดการจดจำได้ยาวนานกว่าการเรียนรู้แบบตั้งใจมากๆ เพราะการท่องจำ ไม่สามารถทำให้เด็กเกิดความรู้ได้อย่างแท้จริง และยังต่อยอดความรู้ใหม่ไม่ได้อีกด้วย

ความสนใจ และการจดจ่อกับสิ่งที่พวกเขาสนใจต่างหาก ที่จะทำให้สมองเกิดการเรียนรู้อย่างเข้าใจ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องจัดกิจกรรมที่สามารถดึงดูดความสนใจของพวกเขา โดยเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ รวมทั้งให้เด็กได้ลองทดลองปฏิบัติจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เพื่อค้นหาความถนัดจนค้นพบความเป็นตัวของตัวเอง และสามารถพัฒนาเป็นทักษะในด้านต่างๆ ให้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นนั่นเอง

 

ขั้นที่ 5 : สมองเรียนรู้จากสิ่งที่ง่าย ไปหาสิ่งที่ยากกว่า

การเรียนรู้ของเด็กมักจะเกิดขึ้นได้ทุกที่ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยตรง ซึ่งเด็กจะเริ่มเรียนรู้จากของจริง ที่สามารถจับต้องได้ และใกล้ตัวก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อทำให้สมองเรียนรู้อย่างเข้าใจได้ง่ายก่อน แล้วถึงค่อยมาเรียนรู้ความซับซ้อนของสิ่งต่างๆ นั้นต่อไป เช่น ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเรียนรู้เรื่องมะนาว ก็ต้องให้พวกเขาได้ลองสัมผัสของจริง พร้อมกับได้ทั้งลองชิม และดมกลิ่นก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยนำไปสู่การเรียนรู้ว่านอกจากมะนาวจะมีรสชาติเปรี้ยวแล้ว ยังสามารถเอาไปทำประโยชน์อะไรอื่นๆ ได้อีกนั่นเอง

 

ขั้นที่ 6 : สมองเรียนรู้ และจดจำแบบ Active Learning

การให้ลูกได้เล่นและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ตามความสมัครใจของเด็กเอง คือการเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ เพราะเด็กมักจะให้ความสนใจจากการเล่น จนก่อให้เกิดประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ ที่จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสมอง และระบบประสาท เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในด้านต่างๆ รวมทั้งอาชีพของพวกเขาในอนาคตอีกด้วย นี่แหละค่ะ คือการที่สมองเรียนรู้ และจดจำแบบ Active Learning ที่จะเปลี่ยนการเล่นสนุกในวัยเด็ก สู่เด็กที่มีพัฒนาการอย่างสมดุล

ยิ่งถ้าผู้ใหญ่มีการปลูกฝังทัศนคติเชิงบวก รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เล่นอย่างสร้างสรรค์ และการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากครอบครัวและโรงเรียนด้วยแล้ว นั่นยิ่งแสดงให้เห็นถึงการที่เรากำลังสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญานั่นเองค่ะ

และทั้งหมดนี้ก็คือ 6 ขั้นตอนของ “เคล็ดลับพัฒนาการเรียนรู้ของลูกรักตามวิธี Brain-based Learning” หรือเรียกย่อๆ ว่า BBL หลักการในการเรียนรู้ และการพัฒนาสมองของเด็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ เพื่อเป็นแนวทางและสอนให้เด็กๆ กลายเป็นเด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพนั่นเองค่ะ

ขอบคุณแหล่งอ้างอิง : Knowledge Box