วันแม่ที่ผ่านมาถึงแม้จะเต็มไปด้วยบรรยากาศอบอุ่นและอบอวลไปด้วยความรัก แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองในมุมที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดกิจกรรมวันแม่ในโรงเรียน ซึ่งในทุกๆ ปี ก็มักจะมีประเด็นนี้เกิดขึ้นมาเสมอ ว่ากิจกรรมวันแม่ในโรงเรียนนั้นจำเป็นแค่ไหน
เริ่มกันที่ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และจิตแพทย์ ที่ไม่ได้คัดค้านในการจัดกิจกรรมวันแม่ในโรงเรียน โดยพญ. พรรณพิมลได้ให้ความเห็นว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว แต่บางกิจกรรมที่มีความอ่อนไหวกับเด็กบางกลุ่มจะต้องระมัดระวังให้มาก เช่นการจัดกิจกรรมวันแม่ ซึ่งทางโรงเรียนก็ต้องจัดกิจกรรมให้เหมาะสม เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าร่วมได้ โดยเน้นให้เด็กได้แสดงความรู้สึกต่อแม่แม้ว่าแม่จะอยู่หรือไม่ได้อยู่กับเขาก็ตาม มากกว่าการเน้นว่าต้องแสดงออกด้วยการสัมผัสเพราะจะทำให้เด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่รู้สึกลำบากใจ
แต่ที่สำคัญในการจัดกิจกรรมวันแม่ในโรงเรียนนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการและระบบการดูแลของโรงเรียนที่ดี โรงเรียนต้องมีความเข้าใจว่าเด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่ยังมีความอ่อนไหวอยู่ ก็ต้องได้รับการดูแลด้วย ซึ่งบางโรงเรียนก็สามารถดูแลและใส่ใจความรู้สึกของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของ เพจ ‘สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย’ ก็ได้มีการตั้งคำถามถึงประเด็นนี้ โดยเน้นไปที่กิจกรรมกราบเท้าและสวมกอดแม่ ว่าอาจจะส่งผลกระทบทางใจในเชิงลบกับเด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่ โดยกล่าวว่าโรงเรียนมักจะเชิญให้คุณแม่มารับการ์ดอวยพร หรือ พวงมาลัยจากลูกๆ โดยให้ลูกกราบเท้าและสวมกอด ซึ่งการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้จะส่งผลกระทบทางจิตใจเชิงลบกับเด็กหลายๆ คนมากกว่าผลทางบวกกับเด็กอีกจำนวนหนึ่งหรือเปล่า
เพราะเด็กแต่ละคนมีเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น เด็กที่อยู่กับญาติเพราะพ่อกับแม่เลิกกัน เด็กที่ถูกแม่ทอดทิ้งทางอารมณ์จนเขารู้สึกว่าสนิทกับพี่เลี้ยงหรือสุนัขมากกว่า หรือเด็กที่แม่ลำเอียง ปฏิบัติกับพี่น้องดีกว่าเขาอย่างชัดเจน รวมไปถึงเด็กที่ถูกแม่ลงโทษด้วยวิธีการรุนแรงบ่อยๆ ไหนจะเด็กที่แม่กำลังป่วยหนัก ระยะสุดท้าย หรือ เสียชีวิตแล้ว ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ
หมอมีฟ้าผู้ที่โพสต์ลงในแฟนเพจ ‘สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย’ จึงได้เสนอถึงแนวทางในการจัดกิจกรรมวันแม่ในแบบอื่นแทน เช่น การเขียนเรียงความ ในหัวข้อเกี่ยวกับแม่ที่เหมาะกับวัยของเด็ก และไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องเขียนแต่เรื่องดีๆ เช่น สิ่งที่ฉันอย่างบอกแม่ หรือ สิ่งแรกที่ฉันนึกถึงเมื่อคิดถึงแม่ เพราะสิ่งที่เด็กเขียนอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคุณครูในการทำความเข้าใจนักเรียนได้มากขึ้น และที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมหรืองานออะไรก็อยากให้โรงเรียนทบทวน “จุดประสงค์ที่แท้จริง” ของงาน เพื่อจะได้เป็นกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ที่สุดกับผู้ร่วมงาน
ทางด้านเว็บไซต์เด็กดี ก็ได้มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการจัดกิจกรรมวันแม่ในโรงเรียน ซึ่งผลที่ออกมานั้นก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยผู้ที่เห็นด้วยเองก็ไม่ได้อยู่กับแม่ แต่มองว่ากิจกรรมวันแม่ทำให้ได้แสดงถึงความกตัญญู ทำให้คนที่แม่ไม่อยู่แล้วได้นึกถึงช่วงเวลาเก่าๆ ไม่จำเป็นต้องมองว่าเป็นเรื่องเศร้าตลอด
ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่าเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจของผู้ที่ไม่ได้อยู่กับแม่และเห็นว่าการแสดงความรักสามารถทำที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำที่โรงเรียนเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่เสนอความคิดในการจัดกรรมให้เหมาะสม โดยเสนอว่า ถึงแม้จะเป็นการจัดกิจกรรมวันแม่ก็จริง แต่ไม่ควรเน้นไปที่แม่เพียงอย่างเดียวเพราะเด็กบางคนก็เติบโตจากการการเลี้ยงดูของคนอื่นไม่ใช่แม่ผู้ให้กำเนิด คนเหล่านั้นก็ถือเป็น “แม่” ของเด็กเช่นเดียวกัน
และจากการสำรวจของเว็บไซต์เด็กดีนั้นก็จะเห็นว่ารูปแบบของกิจกรรมวันแม่ของกลุ่มสำรวจเปลี่ยนไป คือไม่มีการเชิญคุณแม่ ‘ทุกคน’ มาที่โรงเรียนให้ลูกนั่งกราบแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการเชิญเฉพาะตัวแทนคุณแม่ และเน้นไปที่กิจกรรมเทิดพระเกียรติมากกว่า
วันแม่สำหรับหลายๆ คนอาจเป็นวันที่มีความสุข แต่สำหรับบางคนอาจเป็นวันที่แสนเศร้า โดยเฉพาะในเด็กๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวหรือเข้าใจในความหมายของวันแม่ได้ดีพอ ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ว่าจะอธิบายหรือแสดงออกให้เขาเข้าใจอย่างไรว่า แท้จริงแล้วกิจกรรมวันแม่มีเพื่อวัตถุประสงค์ใด และคำว่า “แม่” นั้นไม่ได้หมายถึงแต่แม่ผู้ให้กำเนิดเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงคนที่เลี้ยงดู ฟูกฟัก ให้ความรักและความเอาใจใส่เด็กคนหนึ่งเช่นเดียวกัน และเมื่อเราให้คำนิยามคำว่า “แม่” แก่เด็กได้แล้ว กิจกรรมวันแม่ในโรงเรียนก็คงเป็นเพียงแค่องค์ประกอบเล็กๆ ของวันแม่เท่านั้นเอง
อ้างอิงจาก