หากพบว่าลูกซนผิดปกติ ชอบเล่นอะไรแรงๆ อยู่นิ่งไม่ค่อยได้ หรือหุนหันพลันแล่น ไม่รู้จักการรอคอย อาจสันนิษฐานได้ว่าลูกกำลังเข้าข่ายเป็นเด็กสมาธิสั้น ซึ่งในปัจจุบันเด็กมีแนวโน้มสมาธิสั้นกันมากขึ้น หลายๆ คนอาจจะยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นอยู่ วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาให้คุณพ่อ-คุณแม่ทำความเข้าใจให้มากขึ้นค่า
สมาธิสั้นคืออะไร
โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder: ADHD) เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า คือความผิดปกติของสารสื่อนำประสาท ซึ่งทำหน้าที่ส่งข้อมูลจากเซลล์ประสาทตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง จึงทำให้สมองบางส่วนที่ทำหน้าที่สร้างความเอาใจใส่และทำหน้าที่ยับยั้งให้คนเราเคลื่อนไหวช้าลง ทำงานไม่ดีเท่าที่ควร เป็นปัญหาของการควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิ และซน
โรคนี้พบได้ประมาณ 11% ของเด็กวัยเรียนและพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กหญิงถึงสี่เท่า เด็กที่มีภาวะนี้มักมีอาการที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งในที่บ้าน โรงเรียน หรือในสังคม พ่อแม่และครูมักเข้าใจผิดว่าอาการของโรคนี้เป็นอาการจากปัญหาทางด้านอารมณ์หรือพฤติกรรม แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ ด้วยการรักษาร่วมกันทั้งยา และการปรับพฤติกรรมของเด็ก
อาการของสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 อาการย่อยๆ คือ
- ซนมาก : เด็กจะไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย วิ่งเล่นทั้งวันได้ไม่มีหยุด มักชอบเล่นอะไรที่เสี่ยงๆ เล่นแรงๆ ไม่กลัวเจ็บ อยู่นิ่งไม่ได้ ผุดลุกผุดนั่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อเข้าโรงเรียนคุณครูมักจะบอกว่าเด็กไม่ยอมเรียน อยู่ไม่นิ่ง ลุกอกกจากโต๊ะและเดินวนในห้อง
- สมาธิสั้น : เด็กจะเหม่อ เรียกชื่อแล้วไม่หัน พูดสั่งให้ทำแล้วไม่ทำตาม นั่นเป็นเพราะว่าเด็กฟังคำสั่งได้ไม่ครบ เนื่องจากใจไม่ได้อยู่กับคนพูด ทำให้ฟังประโยคยาวๆ ได้ไม่จบ แรกๆ ทำให้เรียนได้ไม่ค่อยดี เพราะไม่สามารถรับความรู้ใหม่ๆ ได้เต็มที่ ชอบทำของหายบ่อยเพราะจำไม่ได้ว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน
- หุนหันพลันแล่น : เด็กจะไม่รู้จักการรอคอย ต้องตอบโต้ทันที สังเกตได้จากเด็กจะชอบพูดสวน ชอบโพล่งขึ้นมากลางวงสนทนา หรือชอบแซงคิว
ซึ่งอาการทั้งหมดนี้ อาจจะมีทุกอย่างหรือมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ และอาการเหล่านี้ต้องเกิดก่อนอายุ 12 ปี
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสมาธิสั้น
- พันธุกรรม (โรคนี้มีการถ่ายทอดในครอบครัว) หากเด็กเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่มีประวัติเป็นโรคสมาธิสั้น เด็กก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นได้
- การสัมผัสสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะตะกั่ว
- แม่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์
- การเกิดอันตรายต่อสมอง เช่น เคยเป็นไข้สมองอักเสบ มีอุบุติเหตุทางสมอง โรคลมชัก ฯลฯ
- การคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์
- การเลี้ยงลูกด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น โทรทัศน์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์
วิธีการรักษา
วิธีการรักษาโรคสมาธิสั้นมีอยู่ 2 วิธีและต้องใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน คือ
- การปรับพฤติกรรม : ในเด็กสมาธิสั้นสิ่งที่สำคัญคือ การกำหนดข้อตกลงในเบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมดีให้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน และให้การเสริมแรงทางบวกคือคำชมเวลาที่เด็กสามารถทำพฤติกรรมที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการปรับพฤติกรรมอาจะต้องใช้เวลานานและต้องทำย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยอยู่ในคำแนะนำของแพทย์
- การรักษาด้วยยา : ยาที่ใช้มักเป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้น ซึ่งเป็นยาที่ใช้ได้ผลดี ยาเหล่านี้เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง โดยจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบลง อีกทั้งมีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น และอาจช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น เด็กจะไม่ได้ซึมลง ถ้าซึมลงต้องกลับไปปรึกษาแพทย์ เพราะแสดงว่ายานั้นมีผลข้างเคียงหรือขนาดของยาที่กินไม่เหมาะกับเด็ก แพทย์จะได้เปลี่ยนยาหรือปรับขนาดยาให้เหมาะสม
แน่นอนว่าการให้ยาทุกชนิดเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องศึกษาให้ดีก่อนจนเข้าใจ และพ่อแม่ย่อมไม่ต้องการให้ยาที่จะเกิดผลข้างเคียงกับลูก แต่เนื่องจากบางคนเคยได้ยินข้อมูลผิดๆ มาเกี่ยวกับยารักษาสมาธิสั้น เช่น การกินยาจะทำให้กดประสาท ทำให้ไม่โต ทำให้ติดยา เป็นต้น จึงไม่ยอมให้ลูกรับประทานยา โดยพ่อแม่อาจลืมคิดไปว่าถ้าลูกไม่ได้รักษา จะมีผลเสียตามมาในอนาคต คือ เด็กสมาธิสั้นจะมีโอกาสเป็นวัยรุ่นเกเร และต่อต้านสังคมได้มากกว่าเด็กปกติ 3-4 เท่า นอกจากนี้ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตัวเองจะลดน้อยลง ทำให้เสี่ยงต่อการถูกชักจูงให้ใช้สารเสพติดได้ง่าย
พ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น
สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เราเข้าใจในตัวลูกว่าเป็นความผิดปกติของสมองไม่ได้เป็นเพราะปัญหาทางด้านอารมณ์หรือพฤติกรรม และเด็กที่เป็นโรคนี้ จะมีสติปัญญาปกติและหายจากสมาธิสั้นได้แน่นอนหากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี นอกจากนี้สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือ
- งดเลี้ยงลูกด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยี หลีกเลี่ยงการให้ลูกอายุต่ำกว่า 2 ขวบดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือเล่นเกม ถ้าอายุมากกว่า 2 ขวบให้อนุญาตได้ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงสำหรับทุกจอ
- สร้างวินัยให้ลูก ให้กิน นอน เล่น เป็นเวลา ให้เด็กทราบว่าเวลาไหนควรทำอะไร เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก