“เราจะมีชีวิตต่อไปอย่างไรให้มีสุขเมื่อเราสูญเสียคนที่เรารักมากที่สุดไป”
ความสูญเสียเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนรอบข้าง ทำให้เกิดความโศกเศร้าเสียใจ บางคนสามารถรับมือกับความสูญเสียได้ แต่บางคนที่ไม่สามารถรับมือได้ก็ส่งผลให้ร้ายทำให้เกิดโรคทางจิตใจอย่างโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล ซึ่งวิธีการรับมือกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ การประคับประคองจิตใจทั้งจากตัวเองและจากคนรอบข้าง เพื่อให้ผ่านความโศกเศร้านี้ไปได้แนวคิดและวิธีดูแลจิตใจตัวเองและคนรอบข้าง
1. นึกถึงความทรงจำดีๆ
“ขอให้เชื่อว่าพรุ่งนี้เราจะยิ้มได้อีกครั้งหนึ่ง และสามารถยอมรับการจากไปของคนที่เรารักได้ ขอให้นึกถึงความทรงจำดีๆ ที่เคยมีต่อกัน จะเป็นกำลังใจให้เราเดินหน้าต่อไป”
ปุจฉา-วิสัชนาโดย : พระไพศาล วิสาโล
2. ยอมรับความจริง
“บางสิ่งที่เกิดขึ้นปุปปัปเสียจนเราปรับใจไม่ทัน รับไม่ได้ ไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ความตายเป็นความจริง ไม่ใช่สิ่งลวง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ อาจมีบางคนเถียงว่า แล้วทำไมต้องเกิดกับฉันด้วย ขออย่าได้สงสัยเลย ความจริงไม่เลือกหรอกว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ความจริงไม่มีดีไม่มีชั่ว แต่ตัวเราเองต่างหากที่ไปยึดติดว่าเกิดสิ่งนี้ขึ้นแล้วชอบหรือไม่ชอบ ดังนั้นความจริงก็ยังเป็นความจริงวันยังค่ำ มีทางเดียวคือ เราต้องยอมรับ”
ข้อความจาก : คุณเทวัญกานต์ มุ่งปั่นกลาง บรรณาธิการสำนักพิมพ์อมรินทร์
3. คิดว่าเราได้ทำดีที่สุดเพื่อเขาแล้ว
“ตอนที่พ่อยังอยู่ เขาก็ป่วยอยู่บ่อยๆ ซึ่งนิสัยของคนป่วยค่อนข้างเอาแต่ใจตัวเอง ต้องการโน่นนี่อยู่ตลอดเวลา เช่น บางครั้งเขาอยากกินอะไร หรืออยากจะไปเที่ยวที่ไหน เพียงแต่เขาบอกเท่านั้นเราจะทำให้ทุกอย่าง เมื่อถึงวันที่พ่อเขาจากไปจริงๆ เราก็รู้สึกเสียใจบ้าง แต่ถือว่าได้ทำให้เขาได้รับความสุขความสบายใจที่สุดเท่าที่เราทำได้แล้ว”
ข้อความจาก : คุณบาน แซ่ฉิน ภรรยาที่สูญเสียสามีไปเพราะโรคมะเร็งตับ
4. อ่านหนังสือธรรมะหรือหนังสือปรัชญา
“อาจเป็นคำแนะนำที่ดูเชยและน่าเบื่อ แต่ขอยืนยันที่จะแนะนำให้อ่านธรรมะและปรัชญา เพราะหนังสือประเภทนี้จะทำให้เรามีมุมมองใหม่ๆ ต่อชีวิต เนื้อหาของหนังสือธรรมะจะช่วยฟอกใจของเราให้สะอาด อ่านแล้วความคิดของเราจะแตกต่างไปจากที่เคยเป็น และจะรู้ว่าที่จริงแล้วมีมุมมองอีกมากมายที่สามารถนำมาผ่อนคลายความทุกข์โศกของเราได้”
ข้อความจาก : คุณเทวัญกานต์ มุ่งปั่นกลาง บรรณาธิการสำนักพิมพ์อมรินทร์
5. มีสติและอยู่เพื่อผู้อื่น
“ตอนที่ลูกเสีย รู้สึกว่าเหมือนใครเอาชีวิตเราไปด้วย เสียใจร้องไห้อยู่เป็นเดือน แต่พอเห็นลูกคนที่เหลืออยู่เราก็มีสติรู้ว่า ตัวเองยังต้องอยู่ดูแลลูกคนอื่นต่อไป เวลาที่เศร้าคิดถึงลูกก็พยายามทำงาน เวลาที่ผ่านไปจะช่วยบรรเทาความเศร้าให้ค่อยๆ เลือนรางไป”
ข้อความจาก : คุณแน่งน้อย ตุ้มเพชร เป็นคุณแม่ที่สูญเสียลูกชายวัยสองขวบไป
“เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าในชีวิต ความงดงามอยู่ที่เราได้ใช้มันอย่างคุ้มค่า ด้วยการแบ่งปัน ห่วงใยและอาทรในช่วงที่ใช้ชีวิตด้วยกัน เมื่อถึงวันต้องเดินทางไกลจากภพนี้สู่ภพหน้า เราจะไม่เสียใจมากมายนัก เพราะถือว่าเราได้ทำทุกอย่าง อย่างดีที่สุดแล้ว”