Parents One

ลูกนั่งผิดท่ารึเปล่า? W-Shape Sitting ท่านั่งอันตรายพี่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตไหมคะ ว่าเจ้าตัวเล็กมีท่านั่งประจำเป็นแบบไหนเวลาที่เขานั่งอยู่กับพื้น ซึ่งท่าที่เขานั่งก็ดูสบายและไม่ผิดปกติอะไร แต่มีอยู่ท่านึงค่ะที่ต้องคอยสังเกตให้ดี เพราะว่าอาจส่งผลเสียระยะยาวต่อลูกได้ ท่านั่งนั้นก็คือ W-Shape Sitting นั่นเอง อาจสงสัยว่าเป็นท่านั่งแบบไหน งั้นเราไปทำความรู้จักท่านั่งนี้ให้มากขึ้นกันเถอะค่ะ

ท่านั่ง W-Shape Sitting เป็นแบบไหน

W-Shape Sitting เป็นท่านั่งที่เรามักจะเห็นเด็กนั่งอยู่บ่อยๆ คือการที่เด็กนั่งอยู่บนพื้นแบบที่ก้นแนบพื้นอยู่ระหว่างขาทั้ง 2 ข้าง โดยเข่างอพับและขาแบะออกทางด้านข้าง เท้าชี้ไปด้านหลัง มองแล้วคล้ายรูป W ซึ่งเป็นท่านั่งที่ต่อเนื่องมาจากการคลานไปมา แล้วหยุดนั่งเพื่อเล่นของเล่น พอเด็กนั่งแล้วจึงรู้สึกสบายและมั่นคง ตัวไม่โอนเอนไปมา เพราะว่ามีฐานรองรับน้ำหนักตัวที่กว้าง แต่อาจจะสังเกตเห็นได้ว่าเขาจะไม่สามารถเอื้อมมือไปหยิบของในระยะไกลๆ ได้ 

ทำไมถึงนั่งแบบ W-Shape Sitting ไม่ได้

การนั่งแบบ W-Shape Sitting ถึงจะดูเหมือนสบาย และเด็กชอบนั่ง แต่ว่าก็มีผลเสียกว่าที่คิดค่ะ เพราะการนั่งแบบนี้เป็นท่านั่งที่ไม่ดีต่อสรีระร่างกาย คือ เด็กจะหมุนหรือเอี้ยวตัวไม่ถนัด ทำให้เสียสมดุล ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญนะคะ เพราะในเด็กควรได้พัฒนาการทรงท่าที่มีความสมดุล (Balance reactions) จากการเอื้อมมือหรือเอี้ยวตัวไปหยิบของ

นอกจากนี้พอนั่งท่านี้แล้วกล้ามเนื้อหลังของเด็กจะไม่ได้ออกแรงเพื่อการทรงตัวนั่ง เพราะแรงจะไปอยู่ที่บริเวณต้นขาหมด จึงส่งผลต่อกระดูกสันหลัง โดยอาจทำให้กระดูกสันหลังเรียงตัวผิดปกติไปจากแนวเดิม อีกทั้งยังมีแรงบิดที่ผิดปกติต่อข้อสะโพกและข้อเข่าของเด็กจากการนั่งท่า W-Shape Sitting อีกด้วย

ผลกระทบจากการนั่ง W-Shape Sitting

เมื่อเด็กนั่งท่า W-Shape Sitting ไปนานๆ ก็จะนั่งจนติดเป็นนิสัย รวมไปถึงสรีระทางร่างกายที่จะปรับไปตามท่านั่ง ส่งผลให้ลูกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับท่าทางและบุคลิกภาพ อย่างการเดิน ที่เห็นได้ชัดคือ เด็กอาจเดินเท้าบิดเข้าแบบนกพิราบ จึงอาจทำให้มีอาการปวดข้อหรือข้อสะโพกเคลื่อน ซึ่งมีความอันตรายต่อสะโพกในระยะยาว ที่สำคัญคือ การนั่งท่า W-Shape Sitting นี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กมีอาการเท้าแบนได้อีกด้วยค่ะ 

และถ้าหากว่าลูกมีลักษณะการยืนหรือเดินที่ผิดปกติ แนะนำว่าควรพาลูกไปปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางด้านโรคกระดูกเด็กจะเป็นการดีที่สุดค่ะ

ท่านั่งที่เหมาะสม

ท่านั่งที่เหมาะสมสำหรับเด็กก็คือ ท่านั่งที่ทำให้เขาได้ใช้กล้ามเนื้อหลังในการทรงตัว นั่งได้เต็มก้น ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่วางอย่างผิดสรีระ สำหรับท่านั่งที่แนะนำก็คือ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งเหยียดขาตรง และนั่งบนเก้าอี้ โดยถ้านั่งขัดสมาธิหรือพับเพียบก็อาจต้องสลับซ้าย-ขวาให้สมดุลกัน และถ้าเห็นลูกนั่งแบบ W-Shape Sitting ก็ควรปรับให้ลูกนั่งท่าอื่นก็จะดีกว่านะคะ

ข้อมูลอ้างอิง