เมื่อลูกเป็นโรคสมาธิสั้น การเลี้ยงดูคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาให้ลูกสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติและมีความสุข ซึ่งวิธีการเลี้ยงดูที่กรมสุขภาพจิตแนะนำคือการใช้ “ประชาธิปไตย”
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) เป็นปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตเวชในเด็กไทยที่พบมากอันดับต้นๆ โดยมีลักษณะ คือ ขาดสมาธิ (Inattention) ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) และหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การเรียน การเข้าสังคมอยู่ร่วมกับคนอื่น เด็กที่ป่วยมักจะถูกตำหนิ ดุด่า หากจัดการปัญหาไม่ถูกวิธีจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น
ในการรักษาโรคสมาธิสั้นที่ได้ผลดีที่สุดคือการใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรมสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้เด็กมีอาการดีขึ้น โดยทักษะสังคมที่จะต้องสร้างให้เด็กสมาธิสั้นทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างมีความสุข มี 7 ด้านได้แก่ ความเชื่อมั่นตนเอง การควบคุมตัวเอง การจัดการปัญหาที่ถูกต้อง การเรียนรู้สิ่งใหม่ การสื่อสารกับคนอื่น การสร้างสัมพันธภาพคนอื่น และการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งทักษะสังคมเหล่านี้ได้มาจากการฝึก การปลูกฝังและรูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่
พญ.หทัยชนนี บุญเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รูปแบบการเลี้ยงดูเด็กสมาธิสั้นที่สัมพันธ์กับทักษะสังคมในด้านความเชื่อมั่นในตัวเองของเด็กที่สุดคือการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย คือการเลี้ยงด้วยความรัก ให้ความอบอุ่น ส่งเสริมให้เด็กมีอิสระทางความคิด ตัดสินใจและแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง โดยพ่อแม่คอยให้เหตุผลส่งเสริมทำให้สิ่งที่ถูกต้อง ห้ามทำในสิ่งที่ผิด
ส่วนรูปแบบการเลี้ยงดูที่ส่งผลเสียต่อเด็กมากที่สุดคือ การเลี้ยงดูแบบ “ปล่อยปละละเลย” ซึ่งอาจเป็นเพราะเด็กขาดคำแนะนำที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาหรือการแก้ไขความขัดแย้ง อีกทั้งยังขาดแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตในสังคมจากพ่อแม่หรือผู้ที่ใกล้ชิด
อ้างอิงจาก