เพราะนมมีประโชน์ต่อร่างกาย จึงควรดื่มนมเป็นประจำทุกวัน ควบคู่กับการกินอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อให้รับสารอาหารอย่างเพียงพอต่อร่างกาย แต่นมแต่ละแบบมีความแตกต่างกันในเรื่องกระบวนการผลิตและการดูแล ดังนั้น เมื่อลูกถึงช่วงดื่มนมจากกล่อง เราจึงควรรู้และเข้าใจวิธีเก็บรักษากันค่ะ
นมพาสเจอร์ไรส์
ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อที่ใช้ความร้อนสูงไม่มาก แค่เพียงทำลายเอ็นไซม์ต่างๆ และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค จึงไม่ทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้นมเสีย นมชนิดนี้จึงเสียง่ายกว่าชนิดอื่นๆ อยู่ได้ 3-5 วันเท่านั้น แต่ก็มีคุณค่าทางอาหารสูง
- ไม่ควรซื้อมาเก็บไว้คราวละมาก ๆ
- ควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อไม่ให้นมเน่าเสียได้
- กินให้หมดในครั้งเดียว ไม่ควรเก็บไว้และกินต่อภายหลัง
นม UHT
ผ่านการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ด้วยความร้อนสูง บรรจุในกล่องที่ปลอดเชื้อ สามารถคงกลิ่น สี รสไว้ได้ และเก็บไว้ภายนอกได้นานโดยไม่ต้องแช่ในตู้เย็น แต่เมื่อถึงระยะหนึ่งนมจะหนืด กลิ่นอาจเปลี่ยน แสดงว่านมกล่องนั้นหมดอายุแล้ว
- ดูสภาพกล่องนม ว่ามีรอยรั่วซึม หักย่น บวมหรือไม่
- ถ้าเทนมใส่แก้ว ดูลักษณะของนม ว่ามีสี กลิ่น รสผิดปกติหรือไม่
- เก็บในบริเวณที่สะอาด ไม่มีสัตว์แมลงกัดแทะกล่องได้
นมสเตอริไรส์
ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อทำลายทั้งจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคและจุลินทรีย์ที่ทำให้นมเสีย เก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้นาน นานถึง 1 ปี โดยไม่แช่เย็น มักบรรจุลงในกระป๋องที่ปิดสนิทมากกว่ากล่องกระดาษแบบนม UHT
- มีชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต ดูวันหมดอายุ หรือวันที่ควรบริโภคก่อน
- บรรจุภัณฑ์ไม่บิดเบี้ยว บวม หรือรั่วซึม และไม่วางทับซ้อนสูงเกินไป หรือวางตากแดด ใกล้แหล่งความร้อน
- ดูลักษณะของนมก่อนดื่ม เช่น จับเป็นตะกอนเป็นยางเหนียว สีเปลี่ยนไปหรือมีกลิ่นเหม็นหรือไม่
เพื่อความมั่นใจในประโยชน์และคุณภาพของนมพร้อมดื่ม เราจึงต้องใส่ใจ ระมัดระวังในการเก็บรักษากันนะคะ 🙂