เขาว่ากันว่าฝาแฝดนั้นจะเหมือนกันทุกอย่างแต่ในความจริงกลับไม่ได้เป็นแบบนั้นเพราะอาจมีเพียงหน้าตาหรือลักษณะพิเศษที่ใกล้เคียงกัน
แต่อุปนิสัยแต่ละอย่างอาจตรงกันข้ามมากๆ เลยก็เป็นได้
บางครั้ง คุณพ่อคุณแม่รู้สึกปวดหัวที่จะเอาใจเด็กทั้งสองไปพร้อมๆ กันเพราะรู้สึกว่าทั้งที่เป็นแฝดกันแต่ทำไมจึงไม่เหมือนกันเลย และยังมีอาการอิจฉากันเองแกล้งกันเองอีก ดูแลลำบากเหลือเกิน
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับเด็กแฝดให้มากขึ้นนะคะว่า มีแนวทางไหนบ้างที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ของทั้งตัวเด็กทั้ง 2 และครอบครัวให้ดีขึ้น
เป็นแฝดกัน นิสัยไม่เหมือนกัน
เรามักชินตาว่าเป็นแฝดกัน ต้องเหมือนกันซึ่งในความจริงเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะต่างคนก็ต่างนิสัย แม้จะเกิดมาในช่วงเวลาใกล้กันหรือตัวติดกันมาแต่ในครรภ์ ก็ยังคงเป็นคนละคน หากเราใช้ข้อผูกมัดการเป็นแฝดไว้ว่าเด็กทั้ง 2 เหมือนกันทุกอย่าง หากเราจำกัดความว่าคนโตนิสัยแบบไหน คนเล็กก็ต้องนิสัยแบบนั้น จะยิ่งส่งผลให้พวกเขารู้สึกถูกมองข้ามความสำคัญจากคนที่เขารัก
ดังนั้นต้องให้ความใส่ใจที่แตกต่างตามบุคลิกและนิสัยของเด็กแต่ละคน เพื่อให้ลูกแฝดของเรารู้สึกว่าได้รับการเอาใจใส่ที่เท่าเทียม
เป็นแฝดกัน การรับรู้ไม่เท่ากัน
หากมีคนหนึ่งเรียนแล้วเกรดดีมากแต่อีกคนเรียนแล้วเกรดกลับไม่ได้เท่าอีกคน อย่าเปรียบเทียบหรือพยายามบีบให้อีกคนได้เท่า เพราะการรับรู้และเรียนรู้ในการเรียน, การใช้ชีวิตของพวกเขา ไม่เท่ากัน คนหนึ่งอาจถนัดศิลปะมากกว่าวิชาการ หรืออาจมีอีกคนหนึ่งชอบกีฬามากกว่าคณิตศาสตร์ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถบังคับหรือฝืนได้
ดังนั้นหากมีคนใดคนหนึ่งมีพัฒนาการหรือการเรียนรู้ไม่เท่าอีกคน ไม่ควรเปรียบเทียบแต่เปลี่ยนเป็นให้กำลังใจและสนับสนุนด้านที่เขาชอบให้ถึงที่สุดจะเป็นผลดีต่อทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองที่สุด
เป็นแฝดกัน ความชอบไม่เหมือนกัน
เขาว่าลูกแฝดมีอะไรมักต้องซื้อเป็นคู่เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาการที่คนนึงได้และอีกคนไม่ได้ และสิ่งที่เรามักทำคือซื้อสีเดียวกัน สไตล์แบบเดียวกันเพราะเข้าใจว่าเป็นแฝดกันก็คงจะชอบอะไรเหมือนกันแน่ๆ ซึ่งความเชื่อนี้ทำให้ตัวเด็กทั้งคู่รู้สึกไม่ได้รับความใส่ใจมากเท่าที่ควร และอาจทำให้รู้สึกว่าคนเป็นพ่อแม่ลำเอียงได้หากเราเลือกซื้อแต่ของที่อีกคนชอบ แต่อีกคนได้แต่ของที่ไม่อยากได้มาคู่กัน
ดังนั้น ต้องหมั่นสังเกตและจดจำความชอบของแฝดแต่ละคนไว้ว่า ชอบหรือไม่ชอบอะไรเพื่อให้สิ่งของแต่ละอย่างของทั้งสองตรงกับสิ่งที่พวกเขามีความสุขในการใช้หรือสวมใส่ และหากมีของชิ้นไหนที่มีความชอบตรงกันและสามารถแบ่งปันกันได้ต้องสอนให้รู้จักการใช้ร่วมกัน รู้สึกที่จะมีน้ำใจ
เป็นแฝดกัน ไม่ได้ตัวติดกัน
” ทำไมสองคนเป็นแฝดกันไม่ไปด้วยกันล่ะ ” ” เป็นแฝดกันต้องรู้สิว่าอีกคนไปไหน ” ” อ๊าวไม่รู้เหรอว่าน้องชอบอะไร เป็นแฝดกันนี่ ” อาจฟังดูเป็นคำถามทั่วไป แต่หากได้ยินบ่อยเกินไปก็อาจก่อให้เกิดความรำคาญได้สำหรับเด็กแฝด เพราะพวกเขาแม้จะเกิดมาพร้อมๆ กัน แต่ไม่ได้แปลว่าต้องอยู่ด้วยกันหรือตัวติดกันตลอดเวลา แบบที่ใครๆเข้าใจ การฝากความหวังไว้ว่าเป็นแฝดอีกคน ต้องรู้ความเคลื่อนไหวทุกคนอย่างของพี่หรือน้องแฝดของตนนั้น นับว่าเป็นการสร้างเบื่อหน่ายอยู่ไม่น้อย
ดังนั้น การถามไถ่หรือพูดคุย ควรเลือกประโยคเชิงคำถามทั่วไปมากกว่าจะเจาะจงว่าเพราะเป็นแฝดกันจึงต้องรู้ต้องทำ อาทิ ” พี่ไปไหน เราเห็นบ้างไหม ” ” ชวนพี่/น้อง กินด้วยไหมเผื่อเขาอยากกิน ” ” ของชิ้นนี้ลูกชอบมั้ย แม่ไม่รู้พี่/น้องชอบรึเปล่า ลองไปถามเขาทีซิ ”
เป็นแฝดกัน ก็ต้องการความรักจากพ่อแม่พอๆ กัน
ใครๆ ก็ต่างคิดว่าเด็กแฝดมักจะมีกันและกัน โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือได้รับการดูแลจากใครเพราะพวกเขาเกิดมาด้วยสายใยแห่งความผูกพันของการเป็นแฝด แต่ในความจริงเด็กที่เกิดมาเป็นแฝดก็คือเด็กทั่วๆ ไป ที่ต้องการความเอาใส่ใจและเอาอกเอาใจ ไม่ได้ต่างอะไรออกไปเลยแม้แต่น้อยกับเด็กคนอื่น เช่นนั้นแล้ว งานของคุณพ่อคุณแม่จึงต้องใส่ใจเป็นคูณสองเลยทีเดียวกับการดูแลให้สุขภาพกายและจิตของเหล่าเด็กแฝด พร้อมต่อการเจริญเติบโตที่ดีในอนาคต ซึ่งปฏิบัติตามได้ดังนี้
- หมั่นถามความต้องการของเด็กทั้ง 2 คน มากกว่าการเหมารวมว่าคนนึงชอบแบบนี้อีกคนจะชอบด้วย
- รับฟังปัญหาแบบตัวต่อตัวอย่างใกล้ชิดและใช้ความเข้าอกเข้าใจ
- เมื่อมีการทำโทษหรือดุด่า ควรแยกให้มีความเป็นส่วนตัว ไม่เปรียบเทียบกับแฝดอีกคนหรือเรียกมาว่าพร้อมกันเพื่อบอกให้อีกคนช่วยดูแล
- แสดงความรักให้เท่ากัน ไม่ให้ใครคนไหนรู้สึกมากกว่าหรือน้อยกว่ากัน
ที่มา : amarinbabyandkids, myhoneybun.com