รถหัดเดินเป็นอุปกรณ์สำหรับเด็กที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งในช่วงนี้ก็มีข่าวที่เกี่ยวกับรถหัดเดินอย่างที่เห็นกันคือ เด็กวัย 8 เดือนเดินออกมาที่หน้าบ้านเพราะนั่งอยู่บนรถหัดเดินจนเกิดอุบัติเหตุรถ 10 ล้อทับ ทำให้เป็นที่ถกเถียงถึงอันตรายที่เกิดขึ้น เรามาดูกันดีกว่าว่าจริงๆ แล้ว รถหัดเดินนั้นจำเป็นสำหรับเด็กรึเปล่าค่ะ
สาเหตุที่ให้เด็กใช้รถหัดเดิน
ในสังคมไทยนั้นมีความเคยชินกับการใช้รถหัดเดินเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่จะให้เด็กใช้ในช่วง 5-6 เดือน จากการสำรวจพบว่า
- ร้อยละ 50 คิดว่าจะช่วยให้เด็กเดินได้เร็วขึ้น
- ร้อยละ 40 ให้เหตุผลว่าใช้เพราะผู้ดูแลไม่ว่าง จึงต้องมีที่ที่วางเด็กไว้โดยไม่ต้องดูแลเอง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ตรงข้ามกับข้อควรปฏิบัติในการใช้ทั้งสิ้น
- ร้อยละ 10 ให้เหตุผลอื่นๆ
ความเชื่อและความจริงเกี่ยวกับรถหัดเดิน
โดยเอ็นเอชเอส เช็ทแลนด์ (NHS Shetland) ได้มีการทำเอกสารให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าใจผิดในเกี่ยวกับรถหัดเดินสำหรับเด็กไว้ดังนี้
1. ความเชื่อ : ทำให้เด็กเดินเร็ว
ความจริง : รถหัดเดินทำให้เด็กเดินช้า เพราะเด็กเล็กที่อยู่ในรถหัดเดินจะให้ปลายเท้าจิกลงและไถไปข้างหน้า ซึ่งขัดกับหลักการเดินที่ถูกต้อง ที่จะต้องใช้ส้นเท้าลงก่อนเวลาเดิน อีกทั้งยังทำให้ท่าทางการเดินทรงตัวได้ไม่ดี
2. ความเชื่อ : ทำให้เด็กมีพัฒนาการ
ความจริง : เด็กที่อยู่ในรถหัดเดินอาจมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวที่ช้า เพราะว่าเด็กจะอยู่ในท่าตั้ง ไม่ได้คลาน เนื่องจากการคลานเป็นการเคลื่อนไหวที่จำเป็นในการทำให้สมองทำงานในลักษณะสลับไปมา พอไม่ได้คลานก็จะส่งผลให้สมองไม่ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
3. ความเชื่อ : ทำให้มีขาที่แข็งแรง
ความจริง : ทำให้สะโพกและหัวเข้ารับน้ำหนักผิดท่า และทำให้รูปแบบการเดินของเด็กเปลี่ยนแปลง จนสร้างปัญหากับเท้าและข้อเท้าในระยะยาว
4. ความเชื่อ : มีความปลอดภัย
ความจริง : เด็กบนรถหัดเดินจะเคลื่อนที่ได้ไกลและเร็ว เมื่อคลาดสายตาจากพ่อแม่จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
อันตรายจากการใช้รถหัดเดิน
- การพลัดตกหกล้ม ตกบันได และตกจากพื้นต่างระดับของรถหัดเดิน เสมือนการตกจากที่สูง ทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและกระดูกหักได้
- เด็กมักเคลื่อนตัวอย่างเร็วไปใกล้โต๊ะที่วางของร้อน แล้วคว้าดึงภาชนะใส่ของร้อน หรือดึงผ้าปูโต๊ะที่มีของร้อนวางอยู่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุน้ำร้อนลวกได้ง่าย
- รถหัดเดินทำให้เด็กไหลไปจมน้ำแหล่งน้ำในบ้านหรือรอบๆ บ้าน เช่น สระว่ายน้ำ บ่อน้ำ หรือเพียงแค่คว่ำในอ่างน้ำ ถังน้ำ กะละมัง
- เคลื่อนออกพื้นที่ถนนทำให้ถูกรถชน สุนัขกัด
- เด็กที่ได้รับบาดเจ็บขณะอยู่ในรถหัดเดิน มักได้รับอันตรายมากกว่าการล้มตัวเปล่า เพราะถูกรถหัดเดินกดทับ หรือมีชิ้นส่วนของรถหัดเดินขัดแขนขัดขาเด็ก
ในปัจจุบันสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคให้เรียกว่า “รถพยุงตัว” และเขียนฉลากไว้ว่า ไม่ช่วยในการหัดเดิน มีอันตรายถึงชีวิต ผู้ดูแลต้องอยู่ใกล้
ข้อมูลอ้างอิงจาก