เป็นปกติที่เด็กวัยเตาะแตะจะเริ่มซุกซน มือน้อยๆ แข็งแรง เริ่มจับของได้อย่างมั่นคงและแม่นยำขึ้น และคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะตกใจเมื่อจู่ๆ เจ้าหนูก็เขวี้ยงของเล่นในมืออย่างรุนแรงเหมือนกัน! ดีไม่ดีอาจจะเขวี้ยงแก้วนม แก้วน้ำ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในมือไปด้วย
อ้าว แล้วจะทำยังไงดีล่ะทีนี้ ก็ต้องวิ่งแจกันมาเก็บข้าวของให้เจ้าหนูแจน่ะสิ
แต่รู้ไหมคะว่าการปาข้าวของทุกอย่างที่เห็นตรงหน้า ก็เป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้สิ่งของรอบตัวและโลกใบใหญ่ของเจ้าตัวน้อยเหมือนกันนะ ซึ่งมีศัพท์เรียกกันว่า trajectory schema นั่นเองค่ะ เราไปดูกันดีกว่าว่าการเรียนรู้เหล่านี้มีประโยชน์ต่อเด็กน้อยอย่างไร และคุณพ่อคุณแม่อย่างเราจะรับมือกับมันอย่างไรได้บ้าง
Trajectory Schema คืออะไร?
ก่อนที่เราจะทำความรู้จักกับ Trajectory Schema เราต้องรู้จักคำว่า Schema เสียก่อน schema คือรูปแบบการละเล่นของเจ้าหนูน้อย ซึ่งจะเป็นพฤติกรรมที่เขาชอบทำซ้ำๆ เพื่อเรียนรู้สิ่งของต่างๆ และการทำงานของร่างกายที่ส่งผลการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมของเขา (ยกตัวอย่างเช่น ถ้าโยนลูกบอลแล้วจะเป็นอย่างไร? ถ้าของชิ้นนี้ตกพื้นจะเป็นอย่างไร?)
ส่วน Trajectory หากแปลตรงตัวก็จะแปลว่าวิถีกระสุน หรือเส้นโคจร หรือการเคลื่อนไหวจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง
ซึ่งเด็กที่แสดงพฤติกรรม trajectory schema คือเด็กที่ชอบเห็นการเคลื่อนไหวของสิ่งของนั่นเอง เขาชอบที่จะปา โยน หรือเขวี้ยงของ เพื่อดูว่าของชิ้นน้นจะไปตกอยู่ที่ตรงไหน สนุกกับการกลิ้งวัตถุไปมา และตื่นตาตื่นใจกับสิ่งของที่สามารถขยับเองได้อย่างใบไม้ที่ปลิวไปตามลม รถของเล่น หรือลูกบอลที่กลิ้งไปมาได้ค่ะ
วิธีรับมือกับเจ้าหนูที่ชอบปาข้าวของ
เด็กที่มีพฤติกรรม trajectory schema เวลาเขาปาของแล้ว ยิ่งเห็นคุณพ่อคุณแม่วิ่งมาเก็บข้าวของทำความสะอาด เขาก็ยิ่งชอบใจที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทอดๆ
แน่นอนว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพัฒนาการที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของลูกน้อย แต่ก็สามารถส่งผลให้ข้าวของเสียหาย บ้านเลอะเทอะ และอาจทำให้ลูกหรือผู้อื่นเจ็บตัวได้ แต่การโกรธลูกแล้วห้ามนั้นก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ สามารถรับมือได้ดังนี้ค่ะ:
- สังเกตพฤติกรรมของลูกว่าสิ่งที่ลูกทำตอนนี้คือการละเล่นรูปแบบใด ใช่ trajectory schema หรือการละเล่นอื่นๆ หรือไม่?
- หาตัวเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่านี้ อย่างให้เขาโยนลูกบอลนิ่ม ๆ ก้อนกระดาษขยำ หรือถุงเท้าม้วนเป็นก้อน ในพื้นที่ที่ปลอดภัยที่เขาจะไม่รบกวนผู้อื่น
- บอกเขาว่าควรทำอะไร แทนที่จะบอกเขาว่าห้ามทำอะไร ตัวอย่างเช่น “เราโยนแค่ลูกบอลนะ”
กิจกรรมถูกใจเจ้าหนูที่รักการเคลื่อนไหว!
อย่างไรก็แล้วแต่ พฤติกรรมเหล่านี้ก็เป็นพฤติกรรมที่ช่วยเจ้าหนูเรียนรู้สิ่งรอบตัว เป็นหนึ่งในการละเล่นที่ช่วยในการพัฒนาการ คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้เขาเล่นอย่างปลอดภัย ซึ่งสามารถทำเป็นกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวได้ด้วยค่ะ
- เล่นวิ่งไล่จับ
- แข่งโยนลูกบอลนิ่มใส่ตะกร้า
- โบว์ลิงของเล่น
- ถล่มตึกบล็อกไม้
- เป่าฟองสบู่
- พับเครื่องบินกระดาษ