Parents One

8 อาหารก่อภูมิแพ้ที่คุณแม่ต้องระวัง

 

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยมีอาการ เช่น ขึ้นผื่น อึมีเลือดปน หายใจครืดคราด สามารถสันนิษฐานได้ว่าลูกของเรากำลังเกิดอาการแพ้ ซึ่งสาเหตุของอาการแพ้ หลักๆ ก็มาจากอาหาร และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไวต่อสิ่งกระตุ้น ดังนั้นคุณพ่อแม่จึงควรระมัดระวังในเรื่องอาหารและความสะอาด เมื่อลูกมีอาการแพ้ควรให้ลูกหยุดทานอาหารที่มีกลุ่มเสี่ยง และไปพบคุณแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป

8 อาหารก่อภูมิแพ้

1. นมวัว 

 

อาการแพ้นมวัวพบมากในเด็กเล็กที่มีอายุประมาณ 6 เดือน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยโปรตีนในนมวัวได้ อาการแพ้นมวัวพบมากกว่าโรคภูมิแพ้ไข่ และถั่วลิสงถึง 2 เท่า นอกจากการรับนมวัวโดยตรงแล้ว ก็ต้องระวังอาหารที่มีนมเป็นส่วนผสมอีกด้วย เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ เบเกอรี่ต่างๆ เป็นต้น

2. ไข่

เด็กหลายคนแพ้โปรตีนในไข่ขาว เพราะในไข่ขาวมี อัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทนความร้อนได้ดีมาก ไม่ว่าจะทำให้สุกอย่างไรโปรตีนตัวนี้ก็ยังคงอยู่ เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 8 เดือน ระบบย่อยยังทำงานไม่เต็มที่ มีโอกาสแพ้ได้ ซึ่งอาหารที่ต้องระวังว่าจะมีไข่ปนเปื้อน อาทิ ขนมไทยบางอย่าง เช่น ทองหยอด ฝอยทอง ขนมเบเกอรี่ต่างๆ และเส้นบะหมี่ เป็นต้น

3. ถั่วลิสง

ถั่วลิสงมักพบอยู่ในอาหารที่เป็นขนม โดยเฉพาะช็อคโกแลต คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบฉลากข้างผลิตภัณฑ์อย่างรอบคอบเพราะ 20% ของเด็กที่มีอาการแพ้ถั่วจะแพ้ไปตลอดชีวิต และมีความไวต่อการแพ้มาก อีกทั้งมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่แล้วพบว่าเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะแพ้ถั่วลิสงตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบเป็นต้นไป ซึ่งสาเหตุก็มาจากการแพ้โปรตีนในถั่วลิสงนั่นเอง นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่แพ้ถั่วลิสงมีแนวโน้มแพ้ถั่วเปลือกแข็งอีกหลายชนิด เช่น วอลนัท แมคคาเดเมีย เป็นต้น

4. ถั่วเปลือกแข็ง

ถั่วเปลือกแข็งหรือถั่วตระกูลไม้ยืนต้น เช่น อัลมอนด์ วอลนัท เฮเซลนัท ถั่วบราซิล แมคคาเดเมีย เกาลัด พิสตาชิโอ เป็นต้น อย่างที่ทราบว่าคนที่แพ้ถั่วลิสงมีแนวโน้มจะแพ้ถั่วประเภทนี้ด้วย แต่บางครั้งก็พบว่าคนที่แพ้อัลมอนด์ก็อาจไม่ได้แพ้วอลนัทด้วยเสมอไป คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปทำการทดสอบกับคุณหมอเพื่อความแน่ใจจะดีที่สุดค่ะ ถั่วเหล่านี้มักพบในซอสบาร์บีคิว แครกเกอร์ และไอศกรีม ดังนั้นควรหลีกเลี่ยง และพกอะดรีนาลีนไว้เสมอในกรณีฉุกเฉิน

5. แป้งสาลี 

อาการแพ้แป้งสาลี ตัวการคือโปรตีนกลูเตน ซึ่งเราสามารถเลือกอาหารที่ปลอดกลูเตนได้ ด้วยการสังเกตฉลาก หากมีคำว่า Gluten Free ก็มั่นใจได้ว่าปลอดภัยแน่นอน อย่างไรก็ตาม กลูเตนไม่ได้มีอยู่ในแป้งสาลีอย่างดียว แต่ยังมีอยู่ในอาหารอื่นๆ ด้วย เช่น ซีอิ๊ว น้ำมันหอย อาหารเจ เบเกอรี่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คุณแม่ควรระวังและอ่านฉลากให้ละเอียดว่ามีแป้งสาลี เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยหรือไม่

6. ปลา 

การแพ้ปลาเกิดจากแพ้โปรตีนในเนื้อปลา เด็กแต่ละคนอาจแพ้ปลาที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางคนแพ้ปลาแซลมอน บางคนแพ้ปลาดุก บางคนแพ้ปลาทูน่า หรือแพ้ปลาทะเล การแพ้ปลานี้ ซึ่งนอกจากทานปลาไม่ได้แล้ว การสัมผัส การใช้ภาชนะที่มีปลาปนเปื้อน หรือการทานผลิตภัณฑ์ที่มีปลาผสมอยู่ แม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้แพ้ได้เช่นกัน

7. อาหารทะเล 

อาหารทะเลเป็นอาหารอีกประเภทที่เด็กมีอาการแพ้บ่อย บางคนอาจมีอาการแพ้ไม่เหมือนกัน เช่น แพ้แค่กุ้ง บางคนแพ้แค่หอย แต่ทั้งนี้แพทย์จะแนะนำให้งดอาหารทะเลประเภทเดียวกันไปเลย เช่น คนที่แพ้กุ้ง ก็ต้องงดทานปูด้วย เพราะมีโอกาสแพ้ปูได้เช่นกัน หรือคนที่แพ้ปลาแซลมอนก็มีโอกาสแพ้ปลาชนิดอื่นด้วย ฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกแพ้อาหารทะเลก็ควรหลีกเลี่ยงค่ะ

8. ถั่วเหลือง 

ตัวการที่ทำให้เกิดการแพ้ คือโปรตีนถั่วเหลือง ซึ่งอาจผสมอยู่ในน้ำเต้าหู้ หรือในอาหารที่ใช้นมถั่วเหลืองเป็นส่วนผสม เช่น เบเกอรี่ต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลูกจะแพ้อาหารแต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเลือกอาหารชนิดอื่นเพื่อทดแทนกลุ่มอาหารที่แพ้ได้ ซึ่งอาหารชนิดอื่นก็สามารถเติมเต็มประโยชน์ตามที่ร่างกายต้องการได้เหมือนกัน เช่น เด็กที่แพ้นมวัวก็ให้เลือกทานนมถั่วเหลืองแทน เด็กที่แพ้ไข่ให้ทานเนื้อหมูแทน เป็นต้น

 

ที่มา :