เงิน คือ ปัจจัยสำคัญที่ทุกคนที่อยากมีครอบครัวสมบูรณ์ต้องมีค่ะ ยิ่งตอนมีลูกด้วยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักการบริหารการใช้เงินอย่างดีเลยละค่ะ เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกคนนึงสูงมากๆ วันนี้เราจึงอยากมาบอก เคล็ด(ไม่)ลับ ต้องมีเงินเท่าไร? ถึงจะเลี้ยงลูกได้แบบชิลๆ ไปดูกันเลย
คำแนะนำในการเก็บเงิน ก่อนมีลูก
1. ก่อนมีลูก ควรมีเงินเก็บให้ถึง 300,000 ก่อน
การมีลูกไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะเราต้องรับผิดชอบและเลี้ยงดูเด็กคนนึงที่ลืมตาขึ้นมาดูโลกให้ดี่ที่สุดเท่าที่พ่อแม่คนหนึ่งจะทำได้ ดังนั้น จึงต้องมีเงินสำรองจำนวนหนึ่งเผื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉินอยู่เสมอค่ะ
2. เก็บเงินก่อนใช้
เป็นหลักการที่ได้ผลที่สุดในการเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมายค่ะ โดยให้เราตั้งเป้าไว้ว่าในปีนี้ว่า เราอยากมีเงินเก็บเพื่อลูกเท่าไหร่ หารออกมาจากจำนวนเดือน 12 เดือน เพื่อดูว่าใน 1 เดือน เราจะต้องเก็บเงินกี่บาทนั่นเอง เมื่อได้เงินมาแล้ว ให้หักส่วนของลูกออกมาเลยค่ะ จะได้ไม่ไปเผลอใช้
3. ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิต
สิ่งที่ไม่ค่อยจำเป็นในชีวิตเรานั้นมีเยอะแยะมากมาย เช่น การเที่ยวบ่อยๆ การกินอาหารแพงๆ หลายมื้อ การซื้อกระเป๋า ซึ่งมีอยู่หลายใบอยู่แล้ว ถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองอย่างหนึ่งที่เราไม่ควรเสียเงินค่ะคุณแม่ อยากให้หักห้ามใจไว้ไปซื้อของให้ลูกๆ ดีกว่าค่ะ
4. จ่าย เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
เขามักบอกกันว่า เงินหายาก แต่ออกง่ายมาก เป็นเรื่องจริงที่สุดเลยค่ะ เราควรจ่ายเงินในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นค่ะ
5. ซื้อกองทุน หรือประกันชีวิตติดตัวไว้
การซื้อกองทุน หรือซื้อประกันชีวิตเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราออมเงินได้ในรยะเวลายาวๆ ค่ะ ซึ่งถือว่ามีหลักประกันชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสามารถทำให้เงินงอกเงยได้อีกต่างหาก
6. พยายามเก็บเงินให้เป็นระบบ
นั่นคือ การแบ่งเงินออกเป็นบัญชีไว้อย่างเป็นระเบียบและเป็นระบบ เช่น บัญชีนี้เป็นของค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งเดือนนึงควรใช้ประมาณนี้ ส่วนอีกบัญชีนึง เป็นการเก็บเพื่อลูกก็ได้ค่ะ แนะนำให้เปิดแค่บัญชีเก็บเงินอย่างเดียวนะคะ ไม่ต้องไปเปิดบัตรเครดิต จะช่วยประหยัดเงินได้มากเลยค่ะ
ต้องเสียเงินค่าอะไรบ้าง? เมื่อมีลูกสักคน
ค่าใช้จ่ายเริ่มต้น
คุณแม่มือใหม่ต้องเสียเงินส่วนมากไปกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝากท้อง การไปพบหมอเพื่อตรวจครรภ์ และค่าใช้จ่ายในการคลอดลูก โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง 50,000 – 100,000 บาท ในช่วงเวลา 9 เดือน
- แบ่งเป็นค่าฝากครรภ์ และพบแพทย์ราวๆ 1,500 – 2,000 บาทต่อเดือน
- ค่าทำคลอดอยู่ในช่วง 30,000 – 60,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็คเกจที่เราเลือก ซึ่งการทำคลอดอยู่ 2 แบบ นั่นคือ คลอดเองตามธรรมชาติ และการผ่าตัดคลอดค่ะ ราคาก็จะแตกต่างกันในจุดนี้ รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท และถ้าเราไม่ทำคลอดในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากเกินไปก็ไม่น่าจะเกิน 100,000 บาทในรอบระยะเวลา 9 เดือน หากคุณพ่อหรือคุณแม่มีประกันสังคมก็จะสามารถเบิกคืนได้บางส่วนค่ะ
ค่าซื้อเสื้อผ้าใหม่ของคุณแม่
ค่าเสื้อผ้าคุณแม่ตอนที่ท้องคนท้อง หรือที่เราเรียกว่า ชุดคลุมท้อง นั่นเองค่ะ โดยร่างกายจะเริ่มใหญ่ขึ้นโดยเฉพาะบริเวณท้องที่มีลูกน้อยเจริญเติบโตอยู่ภายใน ทำให้คุณแม่ต้องสวมชุดคลุมท้องอยู่ตลอดทั้ง 9 เดือน ค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000-10,000 บาทค่ะ
ส่วนเสื้อผ้าของลูกนั้น ยังไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อมากเกินไป เพราะว่าลูกน้อยจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ขนาดเสื้อผ้าจะเปลี่ยนขนาดเร็วมากนั่นเองค่ะ
ค่าอุปกรณ์สำหรับเด็กแรกเกิด
คุณพ่อ และคุณแม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ในการเลี้ยงลูกให้พร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น เสื้อผ้าเด็ก ผ้าอ้อม นม เครื่องอุ่นนม แปลนอน เครื่องอาบน้ำ เป็นต้น เพราะเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ การใช้ชีวิตประจำวันจะไม่สะดวกมากๆ เลยค่ะ โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะตกราวๆ 30,000 – 50,000 บาทในการจ่ายขั้นต้น และตลอดระยะเวลาการเลี้ยงจะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือนอีกราวๆ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัว
ค่าอาหารของลูก
ค่าอาหารของลูก ส่วนมากจะตกอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือนค่ะ ซึ่งส่วนนี้ยังไม่รวมค่ารักษา ค่าฉีดวัคซีนต่างๆที่ต้องฉีดให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี และที่สำคัญ คือ อาหารของเด็กจะมีราคาแพงกว่าอาหารของผู้ใหญ่ เพราะ ต้องบด และมีรายละเอียดมากนั่นเอง
ในส่วนของอาหาร คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกนั้นแพ้อาหารอะไรบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่กินค่ะ
ค่าพี่เลี้ยงเด็ก
ผู้ปกครองบางคนต้องทำงานประจำ เมื่อหมดระยะเวลาลางานแล้ว คงต้องใช้บริการพี่เลี้ยงเด็ก สำหรับค่าใช้จ่ายพี่เลี้ยงเด็กสมัยนี้มีตั้งแต่หลักพัน ถึงหลักหมื่น แต่ทางที่ดีถ้าเราต้องใช้บริการพี่เลี้ยงเด็กควรกันเงินส่วนนี้ไว้เดือนละ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือนเพื่อให้คลุมทุกค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีนั่นเอง
หลังจากที่ลูกน้อยเริ่มเดินได้ และเป็นช่วงก่อนเข้าเรียนปฐมวัย ในช่วงระยะก่อน 3 ขวบ พ่อแม่มือใหม่ ควรเลี้ยงลูกเองเพื่อประหยัดค่าพี่เลี้ยงและยังช่วยให้ลูกได้รับความรักความเอาใจใส่เต็มที่ด้วย เพราะไม่มีใครเลี้ยงลูกได้ดีเท่าตัวพ่อแม่เอง คุณแม่อาจจะตัดสินใจเปลี่ยนงาน เพื่อหางานที่มีรายได้มากขึ้น รวมถึงการหารายได้เสริมจากการขายของออนไลน์ หรือหากลาออกไม่ได้อาจใช้วิธีย้ายตำแหน่งไปทำงานที่รับผิดชอบน้อยลง ยอมรับเงินน้อยลงแต่มีเวลาให้ลูกมากขึ้น เพราะการเลี้ยงลูกเองจะทำให้คุณแม่ไม่ต้องคอยกังวลว่าเรื่องพี่เลี้ยงใจร้าย ประหยัดรายจ่ายแล้ว ยังช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัยอีกด้วย
ค่าเล่าเรียนลูก
ค่าเทอมลูกเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก และมีรายจ่ายออกเรื่อยๆ เช่นกัน ในช่วงอนุบาลจนจบชั้นประถมนั้น ลูกของเราต้องเรียนอย่างน้อย 9 ปี ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดหากเรียนโรงเรียนรัฐบาลก็จะไม่มากเท่าไร แต่ถ้าลูกของเราจำเป็นต้องเรียนโรงเรียนเอกชน คุณพ่อคุณแม่อย่างเราต้องจ่ายเงินมากขึ้น และต้องจ่ายมากขึ้นไปอีกทั้งในชั้นประถมและมัธยม การวางแผนการเงินสำหรับค่าเทอมลูก ผู้ปกครองต้องคำนวณให้เหมาะสมกับสภาพคล่องของเราเอง
โดยค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีตลอด 9 ปี ราวๆ 20,000 – 50,000 บาท รวมตลอด 9 -10 ปี อยู่ราวๆ 200,000 – 500,000 บาท (ยังไม่รวมอุปกรณ์การเรียนขึ้นอยู่กับโรงเรียน และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลนะ)
ค่าใช้จ่ายเสริม
สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนเสริมต่างๆ อันได้แก่ ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะขึ้นลงค่อนข้างกว้าง ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัว ภายในระยะเวลา 10 ปี เผื่อไว้คร่าวๆ ประมาณ 500,000 – 1,000,000 บาท
ค่าทำประกันชีวิตให้กับคนในครอบครัว
ค่าทำประกันชีวิตไม่ได้ทำแต่เพียงพ่อ แม่ ลูก เท่านั้น แต่เรายังต้องทำเผื่อคนในครอบครัวเราด้วย เช่น คุณปู่ คุณย่า ที่อยู่บ้านเดียวกับเราและคอยเลี้ยงดูเรามาตลอดค่ะ ถ้าทำประกันชีวิตแบบดีๆ ไปเลย ราคาจะค่อนข้างสูง ประมาณ 20,000 บาทต่อคนค่ะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพคเกจที่เราเลือกด้วยจ้า
ค่ายานพาหนะ
เมื่อลูกโตขึ้นจนสามารถดูแลตนเองได้แล้วคงไม่มีเด็กคนไหนอยากให้พ่อแม่คอยไปรับไปส่งที่มหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน พวกเขาก็จะเริ่มอยากได้ยานพาหนะเป็นของตนเองเพื่อเอาไว้ใช้ในเวลามาเล่าเรียน ซึ่งยานพาหนะเหล่านี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพคล่องทางการเงินของคุณพ่อคุณแม่เช่นกันว่าจะพร้อมให้อะไรลูกเป็นยานพาหนะบางบ้านก็อาจจะให้เป็นรถมอเตอร์ไซค์ แต่บางบ้านที่มีฐานะขึ้นมาหน่อยก็อาจจะให้เป็นรถยนต์แก่ลูกของเขา
เมื่อเรารู้ว่า การมีลูกคนนึงต้องเตรียมเงินล่วงหน้าไว้เท่าไหร่บ้าง? ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเลี้ยงลูกนั้นมีอะไรบ้าง? คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถวางแผนเตรียมตัว และตั้งเป้าหมายในการเก็บเงินให้เพียงพอในการเลี้ยงลูกแบบไม่ต้องเหนื่อยมากค่ะ เท่านี้ครอบครัวก็จะสงบสุข ไม่ต้องเครียดเรื่องการใช้เงินอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : MoneyHub