ในบางครั้งเด็กๆ สุดน่ารักของคุณพ่อคุณแม่ก็กลายเป็นปีศาจตัวน้อยที่ไม่ยอมฟังใคร ดื้อแบบสุดๆ งอแงแบบไม่เกรงใจใคร จนคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราๆ ต้องหาวิธีมาปราบปีศาจตัวน้อยให้ออกจากร่างของลูกรักซะหน่อย ซึ่งวิธีการลงโทษก็มีอยู่มากมาย
ซึ่งวันนี้ทาง Parents One ขอนำเสนอเรื่องการลงโทษแบบ “Time in” และ “Time out” มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ศึกษากัน บางคนก็พอจะทราบกันมาบ้างถึงวิธีการลงโทษแบบนี้ ซึ่งจะมีข้อดีข้อเสีย หรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน แล้วแบบไหนถึงจะเหมาะกับการลงโทษของลูกน้อยสุดแสบของเรา ตามมาดูกันเลยค่ะ
Time out และ Time in คืออะไร
Time out
คุณหมอได้อธิบายถึง Time out ว่า เป็นการแยกเด็กออกมาจากการได้รับแรงเสริมทางบวกหรือแยกออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้เด็กเกิดปัญหาพฤติกรรม ซึ่งเป็นการช่วยให้เด็กใช้เวลานอกในการสงบสติอารมณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม และเมื่อเด็กๆ สงบสติลงก็สามารถกลับไปยังส่ิงที่ทำอยู่ก่อนหน้านี้ได้นั้นเองค่ะ
Time in
Time in คือ เมื่อใดที่ลูกของเราเริ่มโวยวาย หงุดหงิด หรือผิดหวังในเรื่องใดๆ ก็ตาม แทนที่เราจะไล่เขาไปนั่งสงบสติหรือสำนึกผิดอย่างเดียวดาย โดยที่เราไม่ให้ความสนใจใดๆ แก่เขาเลย แล้วเปลี่ยนเป็นการที่เราคุณพ่อคุณแม่ไปนั่งข้างๆ เขา เพื่อที่จะช่วยสงบสติอารมณ์ หามุมหรือสถานที่สงบๆและเข้าไปนั่งด้วยนั้นเองค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะช่วยเขาปลอบให้อารมณ์เย็นลง หรือเพียงแค่สงบสติเงียบๆ อยู่ข้างๆ เพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังอยู่ข้างๆ เสมอและพร้อมจะช่วยเขาในเวลาที่เจอปัญหานั้นเองค่ะ
สถานการณ์ไหนควรใช้ Time out หรือ Time in
เมื่อเด็กๆ ทำความผิด อันดับแรกที่คุณพ่อคุณแม่ทำโทษควรจะเป็น Time in โดยการแสดงถึงความรัก ความห่วงใย และคอยปลูกฝังให้เขาปฏิบัติตัวเป็นคนดีอย่างสม่ำเสมอนั้นเองค่ะ โดยเฉพาะเมื่อเด็กๆ ร่าเริง เขามักจะเปิดรับความรู้ใหม่ๆ และซึมซับความอบอุ่นจากคนรอบข้างได้ดี เพราะฉะนั้นการทำโทษแบบ Time in เรียกได้ว่าเป็นการทำโทษแบบอบอุ่น ควรจะเป็นการปลูกฝังเป็นอันดับแรก
แต่หากเด็กไม่ยอมทำตามหรือยังทำตัวไม่น่ารักแบบเดิม คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องใช้วิธีทำโทษแบบ Time out มาจัดการกับลูกน้อยในลำดับต่อไปนั้นเองค่ะ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเจอนะคะ
ข้อจำกัดในการใช้ Time out และ Time in
Time out
- วิธีการนี้เหมาะสมกับเด็กช่วงอายุ 2-3 ขวบ เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มรู้จักการรักษากฎต่างๆ
- หากเด็กอายุ 2 ขวบ ควรเริ่มจากระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 30 วินาที หรือ 1 นาที
- ต้องบอกเหตุผลให้เด็กๆ ได้รู้ในการทำโทษแบบ Time out
Time in
- เมื่อลูกอาละวาด เราต้องเข้าประกบลูกทันที กอดเขาและอยู่ข้างๆ ให้ใจเย็นแม้จะเป็นสิ่งที่ดูไม่มีเหตุผลในสายตาเรา
- Time in ไม่ใช่การให้รางวัลเด็ก
- อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ขณะที่จะทำ Time in ต้องสงบเพียงพอ
วิธีทำ Time out และ Time inให้ได้ผล
Time out
- ควรใช้เวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น เพื่อให้ดูจริงจังและจะทำให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้นว่าการกระทำของตัวเองยังไม่ถูกต้อง
- เลือกบริเวณในการทำ Time out โดยแยกจากส่วนที่ทำกิจกรรม อาจจะเป็นมุมห้องหรือพื้นที่ที่เรายังสามารถเห็นว่าลูกกำลังทำอะไร
- คุณพ่อคุณแม่ต้องควบคุมอารมณ์ของตนเอง ไม่ขึ้นเสียง ให้เขาใจเย็น เป็นการสงบสติอารมณ์ของลูกนั้นเองค่ะ
- หลังจาก Time out แล้วควรโอบกอด เพื่อให้เขามั่นใจว่าคุณรักเขา แต่การกระทำของลูกยังไม่เหมาะสม ไม่ควรทำก็เท่านั้นเอง
Time in
- เข้าไปประกบลูกหรือกอดลูกไว้จากด้านหลัง เมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือทางอารมณ์
- สัมผัสตัว กอด ประกบตัวไว แล้วพาไปมุมที่สงบและรู้สึกสบายด้วยกัน
- คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยด้วยการฟัง แสดงความเข้าใจ และสะท้อนสิ่งที่ลูกกำลังรู้สึก
- ปลอบให้ลูกสงบ และชวนคิดหาทางออกเมื่อเขาสงบลงแล้ว
ข้อดีของการทำ Time out และ Time in
- ไม่ปลูกฝังนิสัยรุนแรงให้กับเด็ก
- ไม่ทิ้งบาดแผลในใจ
- ฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง
- เด็กๆ จะได้ระบายความรู้สึก ในขณะที่สอนได้ด้วย
- เด็กๆ จะไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง เพราะพ่อแม่อยู่ด้วยตลอดเวลา
ขอบคุณข้อมูลจาก : tipsdd, answerbyyok