ปัจจุบันการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้าไปมาก คุณแม่ที่มีลูกยากก็มักอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์โดยการผสมเทียม ทำเด็กหลอดแก้ว การใส่ตัวอ่อน ฯลฯ มาช่วยรักษาภาวะการมีบุตรยาก ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้น เพราะจะมีการตกไข่ได้ครั้งละหลายๆ ใบ คุณแม่ยุคใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์แฝดสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ลูกๆ ที่น่ารักถึง 2 คนในการตั้งครรภ์เพียงครั้งเดียว แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่เพราะคุณแม่ต้องรับบทหนัก มีความลำบากในการอุ้มท้อง ไปดูกันว่ามีข้อควรระวังอะไรบ้างสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด
1. แพ้ท้องรุนแรงกว่าครรภ์ปกติ
คุณแม่จะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากกว่าคนท้องทั่วไป ทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยและเพลียมาก
2. มีโอกาสเลือดจางมากขึ้น
ลูกแฝดในครรภ์จะดึงเอาธาตุเหล็กจากคุณแม่ไปใช้มากขึ้นยกกำลังสอง เพื่อสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้คุณแม่มีโอกาสเกิดเลือดจางได้สูงขึ้น ร่างกายจึงมีความต้องการธาตุเหล็กมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว ดังนั้นเรื่องอาหารเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดควรใส่ใจเป็นพิเศษ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเน้นอาหารที่อุดมด้วยกรดโฟลิก ธาตุเหล็ก และแคลเซียม
3. เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง
ครรภ์แฝดสามารถส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงขึ้นได้ง่าย และหากภาวะนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการมีโปรตีนในปัสสาวะก็จะยิ่งเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่นๆ กับแม่และเด็กตามมา ในการฝากครรภ์ สูติแพทย์จึงต้องตรวจเช็คโปรตีนในปัสสาวะและระดับความดันโลหิตให้อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษนี้
4. ระมัดระวังอุบัติเหตุ
เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น ท้องจะขยายมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวมาก จึงทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวได้ลำบากและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ลื่น หกล้ม ฯลฯ คุณแม่ควรระมัดระวังให้มากและงดการทำงานที่หนักและเหน็ดเหนื่อยมากเกินไป เพราะการทำงานหนักเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
5. ระวังการมีเพศสัมพันธ์
คุณแม่ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ ในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการแท้งบุตร และในช่วงเดือนที่ 7-8 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งท้องของคุณแม่จะใหญ่มาก ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์เช่นกัน เพราะอาจเป็นสาเหตุให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนดได้ ในระหว่างการตั้งครรภ์ถ้าไม่มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามที่กล่าวมา คุณแม่ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ตั้งครรภ์ตอน 4-5 เดือนได้ แต่หากมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ก็ต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ไปเลยค่ะ
6. คลอดก่อนกำหนด
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝด เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติและอาจมีอวัยวะที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เกิดความผิดปกติร้ายแรงเกี่ยวกับปอด สมอง หัวใจ และการมองเห็น นอกจากนั้นยังอาจส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านในทันที (หรือที่สะดวกต่อการเดินทาง) และตรวจเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อติดตามดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และค้นหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และคุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
สุขภาพที่แข็งแรงของคุณแม่จะช่วยให้รับมือกับครรภ์แฝดและภาวะแทรกซ้อนที่อาจต้องเผชิญได้อย่างดีขึ้น โดยแนะนำให้ปฎิบัติตัวดังนี้ค่ะ
- ไปพบแพทย์ตามนัดหมายการฝากครรภ์ทุกครั้ง
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น ว่ายน้ำ เล่นโยคะ
- ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการใช้ยา วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรใดๆ
- พักผ่อนให้มาก
- ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ และที่สำคัญคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรเครียดทำจิตใจให้สบายพร้อมต้อนรับลูกน้อยที่น่ารักทั้งสองคนค่ะ