คุณพ่อคุณแม่คงทราบกันดีนะคะว่า สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กของไทยนั้น ไม่ได้เป็นเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า กว่าจะได้มาทุกคนต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ที่ยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้เฉลี่ยต่อปีที่มีการตั้งเพดานไว้ ขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อพิสูจน์สิทธิก่อน ซึ่งเชื่อเลยค่ะว่าการที่ฐานข้อมูลไทยไม่แม่นยำก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ตกหล่นไม่ได้รับเงินก้อนนี้เช่นกัน
วันนี้ Parents One เลยจะพาแม่ๆ ไปส่องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กของต่างประเทศกันค่ะว่า แต่ละประเทศได้เงินเท่าไหร่กันบ้าง และมีเงื่อนไขและวิธีอย่างไร ไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
โครงการ Kindergeld ของประเทศเยอรมนี
- งบประมาณ 3.3 หมื่นล้านยูโร (1.3 แสนล้านบาท)
- อัตราส่วนงบต่อ GDP = 1.1%
- ครอบคลุมเด็ก 14.97 ล้านคน (110.2%)
* ข้อมูลปี 2017
เงินที่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ของครอบครัว
- ลูกคนโตหรือคนที่ 2 : จะได้รับเงินเดือนละ 219 ยูโร (8,500 บาท) / คน
- ลูกคนที่ 3 : จะได้รับเงินเดือนละ 225 ยูโร (8,800 บาท) / คน
- ลูกคนที่ 4 เป็นต้นไป : จะได้รับเงินเดือนละ 250 ยูโร (9,700 บาท) / คน
เงื่อนไข
- จ่ายจนเด็กอายุครบ 18 ปี อาจถึง 25 ปี ถ้าเด็กยังศึกษาอยู่
- ไม่มีสัญชาติเยอรมันก็มีสิทธิครอบคลุม
- ผู้ลี้ภัยรวมถึงเด็กเยอรมันที่อยู่ต่างประเทศบางกรณียังมีโอกาสได้รับเงินด้วย
นอกจากนี้หากครอบครัวไหนยังไม่ประสงค์รับเงินก้อนนี้ สามารถเข้าโครงการ Kinderfreibetrag เป็นการให้ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับการมีบุตรแทนได้อีกด้วย โดยส่วนมากครอบครัวที่มีรายได้สูงมักจะประสงค์ไม่รับเงินนี้แต่ไปใช้สิทธิ Kinderfreibetrag แทนนั่นเองค่ะ
โครงการ Child Benefit ของสหราชอาณาจักร
- งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านปอนด์ (5.5 แสนล้านบาท)
- อัตราส่วนงบต่อ GDP = 0.6%
- ครอบคลุมเด็ก 12.52 ล้านคน (92%)
* ข้อมูลปี 2020
เงินที่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ของครอบครัว
- ลูกคนแรก : จะได้รับเงินเดือนละ 21.15 ปอนด์ (9800 บาท) / คน
- ลูกคนที่ 2 เป็นต้นไป : จะได้รับเงินเดือนละ 14 ปอนด์ (600 บาท) / คน
เงื่อนไข
- จ่ายจนเด็กอายุครบ 16 ปี อาจถึง 20 ปี ถ้าเด็กยังศึกษาอยู่
- ครอบครัวที่สมาชิกอย่างน้อย 1 คน มีรายได้ต่อปีเกิน 50,000 ปอนด์ (2.3 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีจากเงินอุดหนุน
- ครอบครัวที่สมาชิกอย่างน้อย 1 คน มีรายได้ต่อปีเกิน 60,000 ปอนด์ (2.8 ล้านบาท) ต้องเสียภาษี 100%
เรียกได้ว่าเป็นการคัดกรองที่มีรายได้มากบางส่วน สามารถที่จะไม่เลือกรับเงิน เพื่อไม่ต้องเสียเวลาไปจ่ายเงินคืนทีหลังนั่นเองค่ะ
โครงการ Child Money Program ของประเทศมองโกเลีย
- งบประมาณ 2.31 แสนล้านทูกริก (2.7 พันล้านบาท)
- อัตราส่วนงบต่อ GDP = 1.0%
- ครอบคลุมเด็ก 9.76 แสนคน (87%)
* ข้อมูลปี 2019
แจกเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า
- ลูกทุกคน : จะได้รับเงินเดือนละ 20,000 ทูกริก (235 บาท) / คน
เงื่อนไข
- จ่ายจนเด็กอายุครบ 18 ปี
- สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเพดานที่กำหนด
- ครอบครัวที่เข้าเกณฑ์สามารถแสดงความสมัครใจไม่รับเงินได้ด้วย
เรียกได้ว่าเป็นการคัดกรองครอบครัวที่มีรายได้สูงออกบางส่วน แต่ก็ยังทำให้มีปัญหาเด็กบางส่วนตกหล่นจากกระบวนการคัดกรองด้วยเช่นกัน
โครงการ Child Grant ของประเทศเนปาล
- งบประมาณ 2.95 พันล้านรูปีเนปาล (820 ล้านบาท)
- อัตราส่วนงบต่อ GDP = 0.1%
- ครอบคลุมเด็ก 5.52 แสนคน (19.2%)
* ข้อมูลปี 2018
แจกเงินอุดหนุนเด็กในพื้นที่ที่อยู่ในขอบเขตของโครงการ
- ลูกทุกคน : จะได้รับเงินเดือนละ 400 รูปีเนปาล (110 บาท) / คน
เงื่อนไข
- จ่ายจนเด็กอายุครบ 5 ปี
- จำกัดเฉพาะบางพื้นที่
- จ่ายเงินทุก 4 เดือน
โดยทางประเทศเนปาลตั้งใจว่าจะทำให้เงินอุดหนุนนี้ เป็นแบบได้รับเงินถ้วนหน้าภายในปี 2025 ที่จะถึงนี้อีกด้วย
โครงการ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ของประเทศไทย
- งบประมาณ 1.66 หมื่นล้านบาท
- อัตราส่วนงบต่อ GDP = 0.1%
- ครอบคลุมเด็ก 1.8 ล้านคน (43%)
* ข้อมูลปี 2021
แจกเงินอุดหนุนเด็กตามรายได้เฉลี่ยครอบครัว
- ลูกทุกคน : จะได้รับเงินเดือนละ 600 บาท / คน
เงื่อนไข
- จ่ายจนเด็กอายุครบ 6 ปี
- แจกเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี ต่ำกว่า 100,000 บาท
เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ จากสถานการณ์หลายๆ อย่าง ทำให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กของประเทศไทยได้แบบไม่ทั่วถึง มีการจำกัดรายได้เฉลี่ยของครอบครัวที่ได้ตามข้างต้นนั่นเองค่ะ
ทุกวันนี้ประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกมีเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้ากันแล้ว หากตามแผนเดิมของประเทศไทยจะมีการปรับเข้าสู่ระบบเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าในปี 2565 นี้ ก็มาติดตามกันต่อค่ะว่าประเทศไทยจะมีการปรับแผนและแนวทางสวัสดิการในรูปแบบไหน หรือต้องรอกันต่อไป มารอลุ้นกันค่ะคุณแม่ๆ
อ้างอิงจาก : the101