อาหารสำเร็จรูปประเภทเติมน้ำ ทิ้งไว้ 3-5 นาทีแล้วกินได้เลย อาจเป็นเรื่องสะดวกสบายในยามเช้าก่อนที่ลูกจะไปโรงเรียน แต่ก็ต้องระวังให้ดี เพราะลูกอาจได้รับโซเดียมที่สูงเกินไปและกลายเป็นเด็กติดเค็มส่งผลต่อต่อสุขภาพมากมายในอนาคต
พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า แนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี และมีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นถึง 1,500,000 คนภายในระยะเวลา 5 ปี โรคเหล่านี้สัมพันธ์กับพฤติกรรมกินเค็ม
โดยปริมาณเฉลี่ยที่เด็กไทยได้รับจากการบริโภคอาหารอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียนควรได้รับ อายุ 6-8 ปี อยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400-1,175 มิลลิกรัม และอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม จะเห็นได้ว่าเด็กไทยนั้นกินเค็มเกินปริมาณที่ควรได้รับต่อวันเกือบ 2-5 เท่าเลยทีเดียว
พฤติกรรมการกินเค็มของเด็กอาจเริ่มมาจากพ่อแม่มักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม ส่วนขนมที่มีโซเดียมสูง เช่น ปลาเส้น มีปริมาณโซเดียมถึง 666 มิลลิกรัม/ซอง สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว
หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็จะมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม ซึ่งจะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงเมื่อโตขึ้น รวมถึงโรคกระดูกพรุน เพราะสูญเสียแคลเซียมจากการปัสสาวะ และมะเร็งในกระเพาะอาหารในอนาคต
อ้างอิงจาก