การเลี้ยงลูกในเด็กวัยอายุ 3-6 ขวบ ซึ่งมีฐานความคิดมาจากจินตนาการเป็นหลัก เด็กจะทุ่มเทและจริงจังกับการเล่นมาก เพราะการเล่นจะทำให้เด็กคิด พลิกแพลงการเล่นตลอดเวลา ยิ่งเล่นมาก จะเกิดความชำนาญจากการค้นหา เปลี่ยน ปรับ แก้ปัญหา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ สะสมเป็นความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ที่เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง ยิ่งเด็กมีโอกาสเล่นมากเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง กระโดด คืบคลาน เล่นดิน เล่นทราย หยิบจับสิ่งของ เล่นของเล่น เล่นตุ๊กตา เล่นตั้งเต เล่นบล็อก เล่นตัวต่อ ฯลฯ ก็จะยิ่งได้รับการพัฒนาเซลล์ประสาทในสมองมากขึ้น ไปดูกันว่าวิธีปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเล่นของเด็กให้ถูกวิธีและมีจินตนาการมีอะไรบ้าง
1. จัดมุมเล่นบทบาทสมมุติ
จัดมุมเล่นบทบาทสมมุติในบ้านหรือห้องเรียน พร้อมอุปกรณ์ เช่น เสื้อผ้า ของใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์ที่ใช้วาดรูป ยิ่งมากยิ่งหลากหลาย เด็กจะสร้างสรรค์ได้มากเท่าที่จินตนาการจะพาไป การเล่นสวมบทบาทเป็นคนอื่นหรือตัวละครจากนิทาน การวาดรูป ระบายสี ปั้นแป้ง จะช่วยให้เด็กแสดงออกถึงความคิด
2. เล่นตามเรื่องที่เด็กสร้างขึ้น
เล่นกับลูกเมื่อลูกชวนเล่นตามเรื่องที่เด็กสร้างขึ้นโดยให้ลูกเป็นผู้นำการเล่น เพื่อให้เด็กใช้ความคิดและจินตนาการอย่างเป็นอิสระ หากพ่อแม่เป็นผู้นำการเล่นเอง จะขัดขวางจินตนาการของเด็ก
3. ส่งเสริมให้ลูกเล่นอย่างอิสระ
ส่งเสริมให้ลูกเล่นของเล่นอย่างอิสระ เช่นบล็อก ตัวต่อเลโก้ ดินน้ำมัน หรือเล่นทราย ที่สามารถต่อหรือสร้างเป็นอะไรก็ได้ ของเล่นประเภทนี้จะช่วยให้เด็กใช้ความคิด จินตนาการอย่างไม่มีข้อจำกัด
4. ให้เด็กเล่นสร้างบ้าน
เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เด็กเล่นสร้างบ้านเพราะบ้านเป็นสถานที่ที่เด็กรู้สึกผ่อนคลายอบอุ่นและปลอดภัย เด็กจะใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างบ้านแบบต่างๆที่เด็กฝันอยากจะมี
5. เล่นต่อประโยคกระตุ้นความคิด
เล่นเล่าเรื่องคนละประโยคหรือเล่นต่อเพลง เด็กจะได้รับการกระตุ้นให้คิด
6. พาเด็กไปสัมผัสธรรมชาติ
พาเด็กไปสัมผัสธรรมชาติให้มากเท่าที่จะทำได้ เช่นไปเที่ยวสวนสาธารณะ สวนสัตว์ ทะเล น้ำตก ป่า ความหลากหลายในธรรมชาติ มีทั้งพืช สัตว์ ก้อนหิน ดินทราย ถือเป็นครูทางจินตนาการของเด็ก ฝึกให้เด็กช่างสังเกต กระตุ้นความอยากในการเรียนรู้
7. รักเขาตามที่เขาเป็น
ใช้หัวใจมองเห็นสิ่งมหัศจรรย์ในตัวลูก รักเขาตามที่เขาเป็น อย่าใช้ความคาดหวังของพ่อแม่ตัดสินลูกหรือเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น เพราะเด็กมีความพิเศษต่างกัน ที่สำคัญเด็กที่ฉลาด มักคิดต่างจากใครๆโดยเฉพาะผู้ใหญ่ และสร้างบรรยากาศแห่งความรักความอบอุ่นในครอบครัว เด็กจะได้ทั้งอาหารใจและยาบำรุงสมองชั้นดีด้วย
8. ฝึกให้ลูกสังเกตและตั้งคำถาม
ควรฝึกให้ลูกรู้จักการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และคอยตอบคำถามของลูกด้วยความรักและความใส่ใจ
การส่งเสริมให้ลูกเล่นอย่างถูกวิธีจะช่วย กระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการ ทำให้เด็กคิดเป็น คิดดี และคิดต่อยอดได้ ยิ่งเด็กได้เล่นหลากหลาย ยิ่งสร้างสรรค์มาก เด็กจะฉลาดทั้งปัญญา – อารมณ์ – สังคม ดังนั้น หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ไม่ใช่สร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้ลูก แต่มีหน้าที่ส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยผ่านการเล่นด้วยตัวเองนั่นเองค่ะ
ที่มา – www.thansettakij.com