เขาว่าเด็กเล็กมักมาคู่กับความเชื่อเรื่องผีๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการถูกปกป้องดูแลโดยผี, มีแม่ซื้อมาคุยเล่ยด้วยหรือสามารถมองเห็นในสิ่งลึกลับที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็น และความเชื่อเรื่องผีๆ เองก็มีความเกี่ยวข้องมาตลอดจนถึงคำสอนที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น อย่าส่องกระจกตอนกลางคืนจะเห็นผี, อย่าเล่นมีดผีจะผลักหรืออย่าออกไปไหนหรือเล่นซ่อนหาตอนกลางคืนไม่งั้นผีจะมาลักพาตัวไปซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีในการใช้เรื่องเล่าหรือความเชื่อมาช่วยให้เกิดความปลอดภัย สามารถช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลเด็กซนในบ้านไปได้มาก
แต่ทว่า การสอนที่ทำให้กลัวมากเกินความจำเป็นหรือการปลูกฝังความคิดแบบฝังหัวลึกเกินก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมาได้โดยที่เราไม่ทันได้รู้ตัว โดยคำที่ใช้สอนอาจจะเป็น
” ระวังนะ ไม่กินข้าวเดี๋ยวผีจะมากินแทน ”
“อาบน้ำดึกๆ ระวังผีจะโผล่มาจากด้านหลังและช่วยอาบนะ ”
” นอนดึกมากๆ เดี๋ยวผีจะมานอนในผ้าห่มด้วยหรอก ”
ประโยคเหล่านี้หากไม่ใช่ตัวเราเป็นคนพูด ญาติผู้ใหญ่ในบ้านหรือพี่เลี้ยงเองก็คงมีพูดบ้างไม่มากก็น้อยใช่ไหมคะ ซึ่งในการสอนแบบนี้ถือเป็นการ ” สร้างความหวาดกลัวมากเกินไป ” อาจส่งผลกระทบความพัฒนาการของเด็กในทางลบโดยที่เราไม่ตั้งใจซึ่งการหลอกแบบนี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กดังนี้
- เกิดความกลัว ไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้
- มีความเครียดและรู้สึกหวาดระแวงไปทุกอย่าง
- ไม่ค่อยเชื่อในเหตุผล, ไม่มีการไตร่ตรองทางความคิด
- ส่งผลให้บุคลิกเสีย เช่นเดินห่อตัว, ไม่สบตาหรือกล้าพูดคุยกับคนอื่น, ลุกลี้ลุกลนตลอดเวลา
- สุขภาพจิตย่ำแย่จากการถูกหลอกซ้ำๆ
ดังนั้นสิ่งที่ถูกที่ควรในการทำให้ลูกกลัวอย่างพอเหมาะหรือไม่กลัวจนเกินไปนั้นคือเรื่องสำคัญเพราะคงไม่ใช่เรื่องดีที่คนเก่งของเราจะติดนิสัยกลัวที่มืด, กลัวการเข้าห้องน้ำคนเดียวหรือแม้แต่การไปพูดกับใครต่อใครว่าผีนั้นน่ากลัวเพียงไรจนดูไม่มีเหตุผล เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำมีดังนี้
- เป็นตัวอย่างที่ดีว่าพ่อและแม่เองก็มีความกล้า (แม้จะกลัวก็ต้องพยายามเข้า)
- อธิบายความน่ากลัวสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผล เช่น เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงลม ไม่ใช่ผี, ไม้มีเสียงเอี๊ยดอ๊าดเพราะเก่าแล้ว, ที่นอนแล้วขยับไม่ได้หรือหนักตัวอาจเกิดจากอาการไม่สบายมากกว่าถูกผีอำ
- หากใครพยายามมาหลอกหรือหยอกเล่น ต้องทำการปรับความเข้าใจคนอื่นว่าไม่ต้องการให้ลูกเป็นคนกลัวหรือหวาดระแวงสิ่งที่ไม่มีเหตุผล
- หากลูกยังกลัว ต้องคอยอยู่เป็นเพื่อนก่อน แล้วจึงค่อยๆ ปรับให้ชินกับการนอนคนเดียวหรือไปห้องน้ำคนเดียวให้ได้
- ชมเชยทุกครั้งที่ลูกเริ่มมีความกล้ามากขึ้น หรือสามารถคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น
- สอนให้รู้จักการเคารพสถานที่และสิ่งต่างๆ เพราะนอกจากจะช่วยให้ไม่กลัวแล้วยังช่วยให้ลูกรู้จักการวางตัวที่เหมาะสม
ทั้งนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลซึ่งแต่ละบ้านเองนั้นก็มักมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเชื่อว่ามีจริงและเชื่อว่าไม่มีจริง สิ่งสำคัญที่สุดจึงเป็นความพอดีที่จะถ่ายทอดหรือใช้ประโยชน์จากความเชื่อที่เป็นมาให้กับเด็กๆ ในบ้าน อาจไม่ต้องให้ไม่เชื่อทั้งหมดหรือมองว่าเป็นเรื่องงมงายแต่เราต้องสอนให้ลูกเคารพความคิดผู้อื่นและความเชื่อของตนเอง การกลัวผีหรือเชื่อว่ามีจริงไม่ใช่เรื่องผิดแต่ต้องมีขอบเขตและความเหมาะสมพอดีจนไม่กระทบชีวิตจริงจนเกินไปค่ะ
ที่มา : haijai , amarinbabyandkids