สมาธิ คือ จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เมื่อเด็กมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้และการเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ทำให้เรียนหนังสือได้ดี ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจมีความกังวล กลัวว่าลูกจะไม่มีสมาธิในการเรียน และทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน วันนี้มีเคล็ดลับที่ช่วยฝึกสมาธิให้กับลูกน้อยมาฝากกันค่ะ
1. จัดสิ่งแวดล้อม
จัดหามุมสงบที่ให้ลูกสามารถทำการบ้าน อ่านหนังสือได้โดยไม่มีเสียงดังรบกวนอยู่ใกล้ๆ ให้เสียสมาธิ เช่น การจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่วุ่นวาย ไม่มีเสียงอึกทึก เสียงทีวี เสียงเกม หรือสิ่งที่ชวนให้เสียสมาธิอยู่ใกล้ๆ เพราะเด็กจะไวต่อสิ่งเร้ามาก
2. สนับสนุนสิ่งที่เด็กชอบ
หากพ่อแม่สังเกตว่าลูกเริ่มสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องแมลง เรื่องไดโนเสาร์ พ่อแม่ควรกระตุ้นความอยากเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น ด้วยการตั้งคำถามและข้อสงสัย แล้วท้าทายให้เด็กแสวงหาคำตอบ เช่น ค้นคว้าจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต พาไปศึกษารายละเอียดตามพิพิทธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สมาธิจดจ่อในการศึกษาเรื่องที่สนใจยาวนานขึ้นได้
3. ทำตารางคนเก่ง
การฝึกวินัย และความเป็นระเบียบในการดำเนินชีวิตให้กับลูก โดยการจัดทำตารางกิจวัตรในบ้านตั้งแต่ตื่นถึงเข้านอน ว่าเวลาไหนควรทำอะไรบ้าง จะช่วยให้เด็กทำอะไรเป็นระบบ ขั้นตอน และทำอะไรอย่างไม่เร่งรีบเกินไป ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างสมาธิ แต่ตารางเวลานี้อาจมีความยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ เพื่อให้ลูกไม่เคร่งเครียดจนเกินไปค่ะ
4. ของเล่นเสริมสมาธิ
ของเล่นที่ดีช่วยเสริมสมาธิให้กับลูกรักได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกของเล่นให้เหมาะกับวัยและเป็นของเล่นที่ช่วยให้ลูกจดจ่อให้การเล่นได้นาน ยกตัวอย่างเช่น ตัวต่อจิ๊กซอว์ เลโก้ ร้อยเชือก บล็อกไม้ เป็นต้น และควรฝึกให้ลูกเล่นของเล่นทีละอย่างเพื่อให้ลูกสนใจเล่นของเล่นชิ้นนั้นอย่างจริงจัง และทำให้ลูกมีสมาธิกับการเล่นได้นานขึ้น
5. ฟังเพลงคลาสสิค
มีผลการวิจัยยืนยันว่าเพลงคลาสสิคหรือเพลงบรรเลงที่มีจังหวะช้าๆ สม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายมีสภาวะที่ผ่อนคลาย เพิ่มความสามารถทางด้านความจำและการเรียนรู้ได้รวดเร็ว ก่อนถึงเวลาทำการบ้าน แทนที่จะเปิดทีวี หรือเล่นเกม อาจเปิดเพลงที่ฟังสบายๆ เพื่อช่วยให้จิตใจสงบ มีสมาธิ ทำให้เด็กมีใจจดจ่อกับการเรียนรู้หรือการทำการบ้านค่ะ
6. ส่งเสริมศิลปะ
ศิลปะและการประดิษฐ์ต่างๆ เช่น การวาดรูป พับกระดาษ งานปั้น งานฝีมือต่างๆ ฯลฯ ตามความสนใจและความถนัดของเด็กซึ่งช่วยให้เด็กเพลิดเพลิน มีความสุขในสิ่งที่ทำ และสามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้นาน
7. อ่านนิทานก่อนนอน
ขณะที่เด็กฟังนิทาน จะได้ฝึกการใช้ประสาทสัมผัส ทั้งประสาททางหูในการฟัง และปากในการพูดตาม ซึ่งเป็นการฝึกให้ลูกมีสมาธิจดจ่อในเรื่องราวที่พ่อแม่กำลังเล่า นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจตั้งคำถามให้ลูกตอบเป็นระยะ เพื่อฝึกทักษะการคิดและทำให้ลูกตั้งใจฟังมากขึ้น