Parents One

รวมประโยคสอนหลักภาษาไทย ที่พ่อแม่สอนให้ลูกได้

ภาษาไทยมีหลักภาษาที่ซับซ้อน แต่การเรียนภาษาไม่ใช่เรื่องยาก มีประโยคมากมายที่สามารถทำให้ลูกน้อยจำหลักภาษาต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าการท่องจำทีละอย่าง ดีไม่ดีลูกน้อยอาจจะจำได้ไปจนโตเลยเชียวนะ เราไปดูประโยคเหล่านี้กันเถอะค่ะ!

อักษร 3 หมู่

เริ่มต้นกันด้วยประโยคสำหรับสอน “อักษร 3 หมู่ หรือไตรยางศ์” คือประโยคที่ช่วยให้เด็กๆจดจำหมู่เสียงของพยัญชนะในภาษาไทยได้ง่ายขึ้นค่ะ และจะมีประโยชน์ในการเรียนรู้ในเรื่องการผันวรรณยุกต์ต่อๆไปอีกด้วย อักษร 3 หมู่ ประกอบไปด้วยอักษรสูง อักษรกลาง และ อักษรต่ำ มาดูกันดีกว่าว่ามีประโยคอะไรบ้าง

อักษรกลาง: ไก่จิกเด็กตาย เด็กตายบนปากโอ่ง

ไก่จิกเด็กตาย เด็ก(ฎ)ตาย(ฏ)บนปากโอ่ง

เป็นประโยคสำหรับท่องจำพยัญชนะในหมู่อักษรกลาง ฟังดูอาจจะรุนแรงและน่ากลัว แต่เป็นประโยคที่สามารถทำให้เด็ก ๆ จดจำได้อย่างขึ้นใจ โดย ในประโยคจะประกอบไปด้วยตัวอักษร ๙ ตัว คือ “ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ” ให้อธิบายให้เด็กเข้าใจว่า เมื่ออยู่ในประโยคเดียวกันแล้ว ฎ และ ฏ ได้ถูกรวมไปกับ ด และ ต เพราะออกเสียงเหมือนกันค่ะ

อักษรสูง: ผีฝากถุงข้าวสารให้ฉัน

ผีฝากถุง(ฐ)ข้าว(ฃ)สาร(ศ, ษ)ให้ฉัน

เป็นประโยคสำหรับท่องจำพยัญชนะในหมู่อักษรสูง ฟังดูชวนขนหัวลุกแต่ก็จำได้ไม่ยาก โดยในประโยคจะประกอบไปด้วยตัวอักษร ๙ ตัว คือ “ผ ฝ ถ ฐ ข ฅ ส ศ ษ ห ฉ” ให้อธิบายให้เด็กเข้าใจว่า เมื่ออยู่ในประโยคเดียวกันแล้ว ฐ จะไปรวมกับ ถ กับ ข จะไปรวมกับ ฃ และ ส จะไปรวมกับ ศ ษ เพราะออกเสียงเหมือนกันค่ะ

อักษรต่ำ: งูใหญ่นอนอยู่ ณ ริมวัดโมฬีโลก

งูใหญ่นอนอยู่ ณ ริมวัดโมฬีโลก

เป็นประโยคสำหรับท่องจำพยัญชนะในหมู่อักษรต่ำ เป็นประโยคที่ฟังดูประหลาดและไม่คุ้นหู แต่ก็สามารถจดจำได้ไม่ยากอีกเช่นกันค่ะ ในประโยคจะประกอบไปด้วยตัวอักษรต่ำเดี่ยว ๑๐ ตัว คือ “ง ย ญ น ณ ร ว ม ล ฬ” ส่วนตัวพยัญชนะนอกเหนือจากสามประโยคข้างต้นนี้ จะเป็นตัวอักษรต่ำคู่ค่ะ

คำเป็น / คำตาย

คำเป็นกับคำตาย คือการจำแนกตัวสะกดเสียงสั้นและเสียงยาวในภาษาไทย โดยจะมีสองคำที่สามารถช่วยให้เด็ก ๆ จำได้ง่ายขึ้นดังนี้ค่ะ

คำตาย: กบด

เป็นคำที่ช่วยให้เด็ก ๆ จดจำมาตราตัวสะกดเสียงสั้น ซึ่งประกอบด้วย “แม่กก แม่กบ แม่กด” พอเรียงเป็นคำเดียวง่าย ๆ ก็ทำให้เด็กจำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องท่องยาวค่ะ

ตอนสอน พ่อแม่อาจจะสอนด้วยประโยค “กบฎต้องตาย” ให้ลูกจำได้ว่า สามตัวสะกดนี้เป็นคำตายค่ะ

คำเป็น: นมยวง

เช่นเดียวกันกับกบด นมยวงเป็นคำที่ช่วยให้จำมาตราตัวสะกดเสียงยาว ซึ่งประกอบด้วย “แม่กน แม่กม แม่เกย แม่เกอว แม่กง” เรียงเป็นคำตลก ๆ ที่เรียกเสียงหัวเราะให้กับเด็กได้เลยเชียว

พ่อแม่อาจจะแนะนำให้จำว่า “นมยวงยาว ๆ” ให้ลูกน้อยจำได้ว่าห้าตัวสะกดนี้ออกเสียงยาวค่ะ

คำลิ้นพันกัน

คำลิ้นพันกัน คือประโยคที่ประกอบด้วยคำที่ออกเสียงคล้ายคลึงกัน เป็นการช่วยให้เด็กฝึกการออกเสียงตัวอักษรภาษาไทยอย่างถูกต้อง และช่วยฝึกให้ออกเสียงคำยาก ๆ ได้ดีขึ้น เช่นคำควบกล้ำ การกระดกลิ้น

ประโยคเหล่านี้สามารถทำให้ลูกน้อยสนุกไปกับการฝึกออกเสียงอีกด้วย เพราะถ้าออกเสียงผิดก็จะฟังดูตลกไม่น้อยเลยล่ะค่ะ เราไปดูตัวอย่างประโยคเหล่านี้กันเถอะค่ะ

ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก ยักษ์เล็กไล่ยักษ์ใหญ่

ชามเขียวคว่ำเช้า ชามขาวคว่ำค่ำ

ยายกินลำไย น้ำลายยายไหลย้อย

เช้าฟาดผัดฟัก เย็นฟาดฟักผัด

หมูหมึกกุ้งหุงอุ่นตุ๋นต้มนึ่ง

ไหมใหม่ไม่ไหม้ใช่ไหม

งูกินหนูจนงูงงงวย

เรารักโรงเรียนของเรา รุ่งโรจน์ร่ำรวยเรืองรอง

ยักษ์รักลิง ลิงรักยักษ์ ลิงน่ารัก ยักษ์รักลิง

ลิงใหญ่ถือลำไยเล็ก ลิงเล็กถือลำไยใหญ่

กินมันติดเหงือก กินเผือกติดฟัน

ทหารถือปืนแบกปูนไปโบกตึก


หลักภาษาไทยอาจจะฟังดูน่าสงสัย แต่ถ้าเรานำมันมาใส่ในรูปแบบที่ดูสนุกสนานและจำไม่ยาก ก็ง่ายกว่าที่คิดเลยล่ะค่ะ ประโยคข้างต้นทั้งหมดนี้สามารถนำไปท่องเล่นกับลูกน้อยได้ ทั้งสนุกทั้งได้ความรู้เลยล่ะ 😆