เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ตอนที่มีอายุมากแล้วอาจจะมีความกังวลต่างๆ ตามมาก็เป็นได้ อีกทั้งร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์อีกด้วย แล้วจะมีแนวทางดูแลคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากแล้วอย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
ฝากครรภ์ตั้งแต่แรก
คุณแม่ควรฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์หรือเมื่ออายุครรภ์น้อย ซึ่งถ้าเกิดอะไรขึ้นใน 3 เดือนแรกลูกอาจมีสิทธิพิการได้เพราะอวัยวะต่างๆ ของลูกกำลังเจริญเติบโตครบสมบูรณ์ การฝากครรภ์จึงถือว่าอยู่ในการดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิด ยิ่งเป็นคุณแม่ที่อายุมากแล้วการดูแลยิ่งมีมากตามไปด้วยค่ะ
เข้าใจความเสี่ยงของการตั้งครรภ์
คุณแม่และครอบครัวควรเข้าใจถึงความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมากแล้ว จะทำให้เข้าใจในการดูแลมากยิ่งขึ้นและหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระทบกับลูกในครรภ์ได้ค่ะ
หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ
การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่จะทำให้สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติและนำไปปรึกษาหมอได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสามารถสังเกตได้หลายจุด เช่น การดิ้นของลูก อาการแพ้ท้อง ความแข็งของท้อง เป็นต้น
ดูแลจิตใจของคุณแม่
เมื่อได้เป็นคนแม่ตอนอายุมากแล้ว ถ้าคุณแม่เคยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาก่อนอาจจะมีความมั่นใจในการดูแลลูกในครรภ์ แต่ถ้าคุณแม่นั้นเคยมีช่วงที่สะดุด เคยท้อแท้ และคิดว่าทำอะไรบางอย่างไม่ได้ ก็อาจจะมีจิตใจที่อ่อนไหวง่ายได้ คุณพ่อและคนรอบข้างจึงควรให้กำลังใจคุณแม่มากๆ และคอยอยู่เคียงข้างคุณแม่กันนะคะ
คลายความกังวลให้คุณแม่
ระหว่างที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์นั้นมักจะมีความกังวลเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากความกังวลจะมีมากขึ้นทวีคูณเลยทีเดียวค่ะ มีทั้งความกังวลเรื่องรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป การรับบทบาทใหม่ สุขภาพของลูก สุขภาพของคุณแม่เองที่อายุเยอะแล้ว และเรื่องอื่นๆ ซึ่งคุณพ่อและคนรอบข้างสามารถช่วยคลายความกังวลให้คุณแม่ได้ด้วยการแบ่งเบาภาระงานบ้าน ให้ความเชื่อมั่นกับแม่ จะพอช่วยได้มากอยู่ค่ะ
หมั่นพูดคุยกับคุณแม่
การได้พูดคุยกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอนอกจากจะคลายความกังวลให้กับคุณแม่แล้ว ยังเป็นการเช็คกับคุณแม่ได้อีกด้วยว่ามีสัญญาณผิดปกติอะไรให้ช่วยเหลือหรือไม่อีกด้วยค่ะ
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุเยอะนั้นควรจะต้องดูแลและใส่ใจอย่างใกล้ชิดเพราะมีความเสี่ยงอยู่หลายอย่าง คุณพ่อและคนรอบข้างควรหมั่นดูแลคุณแม่ทั้งร่างกายและจิตใจกันนะคะ
ที่มา – anamai