ช่องปากของลูกเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ฟันน้ำนมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากเด็กสูญเสียฟันน้ำนมก่อนกำหนดและฟันแท้ยังไม่ถึงเวลาขึ้น ก็จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก ไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วนเนื่องจากไม่มีฟันคอยบดเคี้ยวอาหาร นอกจากนี้ถ้ามีอาการปวดฟันหรือเหงือกก็ยังรบกวนการนอนของเด็ก ทำให้ฮอร์โมนควบคุมการเจริญเติบโตไม่ทำงานอีกด้วย
การที่ลูกมีฟันน้ำนมที่แข็งแรงจะช่วยป้องกันการมีฟันเกหรือฟันซ้อนได้ เพราะฟันน้ำนมแต่ละซี่จะคอยจองตำแหน่งให้ฟันแท้ขึ้นแทน แต่เมื่อฟันน้ำนมหายไป ฟันแท้ก็จะขึ้นมาไม่เป็นระเบียบ มีการเกหรือซ้อนทับกัน ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร ความสวยงามของใบหน้า ทำให้ออกเสียงได้ไม่ชัดเจน กระทบไปจนถึงการขาดความเชื่อมั่นในตนเองและการกล้าแสดงออก
สำหรับวิธีการทำความสะอาดช่องปากให้ลูก เพื่อเป็นการรักษาฟันน้ำนมให้อยู่ในช่องปากได้นานที่สุดนั้น ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เด็กแรกเกิดจนถึงช่วงวัยก่อนมีฟันน้ำนมขึ้นในช่องปาก ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกเช็ดเหงือก กระพุ้งแก้ม ลิ้นให้ลูกเพื่อขจัดคราบนมวันละ 2 ครั้ง เมื่อลูกเริ่มมีฟันน้ำนมในช่องปาก ควรแปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ แตะขนแปรง พอเปียก ถูแปรงไปมาสั้นๆ ในแนวขวาง อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-ก่อนนอน
โดยท่าที่ใช้ในการแปรงฟันให้ลูกคือ การที่พ่อแม่นั่งบนพื้นให้เด็กนอนหนุนตักแล้วใช้ขาควบคุมแขนและขาของลูกไว้ให้นิ่ง ใช้นิ้วแหวกกระพุ้งแก้มหรือริมฝีปากเพื่อให้เห็นฟันที่จะแปรงได้ชัดเจน ใช้ผ้าสะอาดเช็ดยาสีฟันออกหลังแปรงฟัน โดยปกติเด็กเล็กมักจะร้องเวลาแปรงฟัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ หากพ่อแม่ทำความสะอาดช่องปาก แปรงฟันให้ลูกน้อยได้ถูกต้องและแปรงอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ลูกจะไม่เจ็บและเกิดความเคยชินจนสามารถให้ความร่วมมือได้อย่างดี
เมื่อลูกอายุ 2-3 ปีควรฝึกให้เขาแปรงฟันเอง แต่พ่อแม่ควรแปรงฟันซ้ำให้ลูกจนถึงอายุ 7-8 เพราะลูกยังแปรงฟันเองได้ไม่สะอาดนัก ที่สำคัญ ควรตรวจฟันลูกเดือนละครั้ง หากพบฟันผุหรือความผิดปกติในช่องปาก ต้องพาไปพบทันตแพทย์ได้ทันที เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุลึกจนต้องถอนฟันออกในที่สุด
อ้างอิงจาก