หากจะกล่าวว่า ‘การเล่น’ เป็นการทำงานของเด็กก็คงไม่ผิดนัก เพราะเด็กๆ จะจริงจังและทุ่มเทกับการเล่นมาก หากคุณพ่อ - คุณแม่ลองสังเกตดูจะเห็นว่าพวกเขาจะคิดและพลิกแพลงวิธีการเล่นใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งการเล่นจะทำให้เกิดความชำนาญจากการค้นหา เปลี่ยน ปรับ แก้ปัญหา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ สะสมเป็นความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ที่เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันตรงกันว่า ยิ่งเด็กมีโอกาสเล่นมากเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง กระโดด คืบคลาน เล่นดิน เล่นทราย หยิบจับสิ่งของ เล่นของเล่น เล่นตุ๊กตา เล่นตั้งเต เล่นบล็อก เล่นตัวต่อ ฯลฯ ก็จะยิ่งได้รับการพัฒนาเซลล์ประสาทในสมองที่มีนับแสนล้านเซลล์เชื่อมต่อกันเป็นร่างแห เด็กจะมีความสามารถในการคิด เรียนรู้ โดยเฉพาะการเล่นที่มีการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ร่วมกันจะทำให้การเชื่อมโยงเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20-25 นอกจากนี้การเล่นของเด็กจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความฉลาดทางปัญญา อารมณ์และสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย ทางด้านแพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เด็กอายุ 3-5 ขวบมีฐานความคิดมาจากจินตนาการ ดังนั้นหน้าที่ของคุณพ่อ - คุณแม่ไม่ใช่สร้างความคิดสร้างสรรค์ให้ลูก แต่ต้องส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านการเล่นต่างหาก โดยใช้วิธีปฏิบัติ 9 ประการดังนี้ จัดมุมเล่นบทบาทสมมุติในบ้านหรือห้องเรียน พร้อมอุปกรณ์ เล่นกับลูกเมื่อลูกชวนเล่นตามเรื่องที่เด็กสร้างขึ้น โดยให้ลูกเป็นผู้นำการเล่น เตรียมอุปกรณ์ต่างๆเพื่อให้เด็กเล่นสร้างบ้าน เพราะบ้านเป็นสถานที่ที่เด็กรู้สึกผ่อนคลายอบอุ่นและปลอดภัย ส่งเสริมให้ลูกเล่นของเล่นอย่างอิสระ เช่นบล็อก ตัวต่อเลโก้ ที่สามารถต่อหรือสร้างเป็นอะไรก็ได้ เล่นเล่าเรื่องคนละประโยคหรือเล่นต่อเพลง เด็กจะได้รับการกระตุ้นให้คิด พาเด็กไปสัมผัสธรรมชาติให้มากเท่าที่จะทำได้ ใช้หัวใจมองเห็นสิ่งมหัศจรรย์ในตัวลูก รักเขาตามที่เขาเป็น อย่าใช้ความคาดหวังของพ่อแม่ตัดสินลูกหรือเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น สร้างบรรยากาศแห่งความรักความอบอุ่นในครอบครัว ควรฝึกให้ลูกรู้จักการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และคอยตอบคำถามของลูกด้วยความรักและความใส่ใจ อ้างอิงจาก siamturakij.com