ยิ่งเรามีครอบครัว มีภาระหน้าที่มากมายต้องดูแล เมื่อเจอสถานการณ์ไม่คาดคิดที่ไม่ทันตั้งรับ การหาทางออกอย่างมีสติน่าจะเป็นทางออกที่ดี และควรมีข้อมูลที่ควรรู้เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่จะตามมากันนะคะ วันนี้เลยนำข้อมูลที่จำเป็นเมื่อเราออกจากการทำงานประจำมาฝากกันค่ะ
เงินชดเชยจากบริษัท
อ่านสัญญาการเลิกจ้างงาน และดูผลประโยชน์ที่ได้รับ เพื่อเช็กว่าระยะการทำงานของคุณกี่ปี ควรได้รับผลตอบแทนเท่าไร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดจำนวนเงินค่าชดเชยให้ ซึ่งจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยต่อเมื่อมีอายุงานตามเกณฑ์ที่กำหนดดังนี้
1. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
4. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
5. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
* หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติม สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 , 0-2232-1462-4, 1467
ลงทะเบียนผู้ว่างงาน
เพื่อรายงานสถานะ และขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ซึ่งจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน ปีละไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน) ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น เงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
การลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง ที่สำนักงานจัดหางาน (ในเขตพื้นที่ที่สะดวก) โดยเตรียมเอกสารดังนี้ สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาสมุดบัญชี (ที่ต้องการให้โอนเงินทดแทนว่างงาน) เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะได้ใบนัดรายงานตัวในเดือนต่อๆ ไป หรือลงทะเบียนผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ www.empui.doe.go.th
แจ้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินก้อนนี้ก็พอให้จับจ่ายช่วงตกงานได้ เป็นเงินทุนที่ช่วยกู้สถานการณ์ในยามคับขัน (กรณีไม่มีเงินสำรองเลย) ทางบริษัทที่เราทำงานจะเดินเรื่องให้ หากจะเก็บไว้ในกองทุนต่อไปจนกว่าจะโอนย้ายไปเข้ากองทุนใหม่ เพื่อลดภาระด้านภาษีก็สามารถทำได้ แค่แจ้งความประสงค์ไปยังบริษัทจัดการกองทุน หรือคณะกรรมการกองทุนว่าขอคงเงินไว้ในกองทุนก่อน
สำรวจและวางแผนการใช้เงิน
เพื่อวางแผนการใช้เงินอ ทั้งของตัวเองและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินสด สินทรัพย์ หนี้สิน รวมถึงค่าใช้จ่ายรายเดือนว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องใด มากน้อยเพียงใด และควรหารายได้เสริมเท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้ เป็นต้น
ส่งกองทุนประกันสังคม
เพื่อรักษาสิทธิประกันสังคม อย่าลืมยื่นเอกสารเพื่อต่อกองทุนประกันสังคมด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ (ไม่เกิน 6 ดือน นับจากวันที่ได้สัญญาเลิกจ้าง) เงินสมทบที่ต้องนำส่งสำนักงานประกันสังคม อยู่ที่เดือนละ 432 บาทต่อเดือน ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี (กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ) ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ตอนที่เราทำงาน)
ข้อมูลที่แนะนำ จะช่วยให้คุณแม่เตรียมรับมือกับสถานการ์ได้อย่างรู้ทัน แม้จะตกงานแต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะหยุดไปด้วย และอย่าลืมนึกถึงคนใกล้ตัว พยายามมองโลกในแง่บวก และใช้เวลาที่มีหางาน อบรมเพิ่มเติมความรู้ หรือทำอาชีพเสริมต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้ตัวเองอีกทางด้วยนะคะ☺