Sharenting คือ พฤติกรรมของพ่อแม่ที่โพสต์รูปลูกลงโซเชียลมีเดีย ในการโชว์ภาพถ่าย รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของลูก หวังให้คนรอบข้างได้ชื่นชม และเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นส่วนตัว โดยหารู้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวมีข้อเสียแอบแฝงอยู่มากมายที่คุณพ่อคุณแม่คาดไม่ถึง จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพื่อการใช้โซเชียลมีเดียในการแบ่งปันเรื่องราวของลูกน้อยอย่างเหมาะสม
ข้อเสียของการโพสต์รูปลูกลง Social Media
1. ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็ก
การโพสต์รูปลูกบางครั้งเป็นการบอกถึง “ข้อมูลพื้นฐานของเด็ก” ได้แก่ ชื่อ อายุ โรงเรียน ช่วงเวลาที่ผู้ปกครองจะไปรับเด็กที่โรงเรียน และข้อมูลชีวิตประจำวันอื่นๆ ของเด็ก ข้อเสียที่สำคัญคือถ้าหากข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ไปยังผู้ที่มีความประสงค์ร้ายต่อเด็กหรือมิจฉาชีพ อาจนำไปสู่อันตรายต่อตัวเด็กเอง เช่น การสะกดรอยตาม การลักพาตัวเด็ก เป็นต้น
2. การเลี้ยงดูที่ไม่เป็นธรรมชาติ
หลายครั้งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กมีการโพสต์รูปลูก แล้วนำไปสู่การสร้างตัวตนให้เป็นไปในแบบที่ตนเองต้องการ ทำให้เด็กต้องดูดีหรือดูน่ารักตลอดเวลา ต่อหน้าสาธารณชน เด็กอาจสูญเสียความเป็นตัวเองและสูญเสียความเป็นเด็ก เนื่องจากเป็นการฝืนธรรมชาติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กบางคนอาจต้องการวิ่งเล่น ซุกซนตามวัย ร้องไห้ งอแง จึงอาจกลายเป็นปัญหาตามมาด้านการปิดกั้นพัฒนาการของเด็กได้ค่ะ
3. ส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็กเมื่อโตขึ้น
พ่อแม่บางคนโพสต์รูปลูกที่เป็นปัญหาต่อสภาพจิตใจเด็กในอนาคต เช่น รูปเด็กเปลือย เมื่ออนาคตเด็กโตขึ้น อาจถูกขุดคุ้ยภาพในอดีตที่พ่อแม่เคยโพสต์ไว้มาล้อเลียน และส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กเมื่อโตขึ้นได้
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนโพสต์รูปลง Social Media
- คัดสรรรูปภาพที่เหมาะสมในการโพสต์
- ขออนุญาตลูกก่อนโพสต์ เมื่อลูกโตพอที่จะบอกความรู้สึกหรือแสดงความคิดเห็นได้
- เลือกรูปที่ลูกใส่เสื้อผ้าปิดมิดชิด
- ตั้งค่า social media เป็น privacy หรือเห็นกันเฉพาะกลุ่ม
- ปิด location ไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเด็กแก่สาธารณะ
- เขียนบรรยายภาพด้วยถ้อยคำที่ให้เกียรติลูก สุภาพ และเหมาะสม
พ่อ แม่ ต้องระลึกอยู่เสมอว่า สังคมออนไลน์นั้นไม่มีความเป็นส่วนตัว ซึ่งเท่ากับว่าใครต่อใครก็ตามสามารถสอดแนมความเคลื่อนไหวของเราและลูกของเราได้ตลอดเวลา เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เพิ่มโอกาสในการถูกสอดแนมโดยที่เราและลูกไม่รู้ตัวเลย ดังนั้นจะโพสต์อะไรลงโซเชียลมีเดียต้องคิดให้ดีก่อนจะดีที่สุดค่ะ
ที่มา – med.mahidol