การติดโซเชียลมีเดียส่งผลเสียมากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นการวิตกกังวลง่าย ภาวะอารมณ์แปรปรวนหรือเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งส่งผลเสียต่อทุกช่วงวัยในแง่ที่แตกต่างกัน ปัจจุบันการติดโซเชียลได้รับการบรรจุให้เป็นโรคทางจิตเวชแล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ จึงต้องเริ่มต้นที่เด็ก โดยเสนอให้เพิ่มการศึกษาพื้นฐาน ให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในเรื่องนี้มากขึ้น
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าาว่า ปัจจุบันในไทยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกว่า 10 ล้านคน จากสถิติการใช้งานในทุกๆ 20 นาที จะมีการอัปโหลดรูปถ่ายมากกว่า 3.7 ล้านรูป แชร์ ลิงก์ และอัปเดตสเตตัส มากกว่าล้านข้อความ
แนวโน้มสำคัญที่คนส่วนใหญ่ติดโซเชียลมาจากการไม่อยากอยู่อย่างโดดเดี่ยว, ต้องการการมีตัวตนมากกว่าที่เป็นอยู่, มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องคนอื่น พอๆ กับต้องการให้คนอื่นรู้เรื่องของตน และการโหยหาแรงสนับสนุนและการยอมรับจากสังคม
สำหรับผลกระทบการการติดโซเชียลมีรายงานการศึกษาดังนี้ 29.5% เสพติดอาหารและช้อปปิ้ง 27.7% ทำให้มีปัญหาภาวะซึมเศร้า และ 21.1% ทำให้เกิดอาการวิตกกังวล และภาวะอารมณ์แปรปรวน นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อตัวเองและสังคมในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกันด้วย เช่น
>> กลุ่มวัยก่อนเรียน : พบปัญหาสมาธิสั้น สูญเสียทักษะสังคม และการเสียการเรียนรู้จากประสบการณ์ และการลงมือทำ
>> กลุ่มวัยเรียน : ก่อให้เกิดปัญหาด้านความรุนแรง อ้วน,สายตาเสีย, เสียวินัย, และผลการเรียนลดลง
>> กลุ่มวัยรุ่น : ทำให้เกิดค่านิยมการบริโภคติดอินเทอร์เน็ต การรังแกกันทางโซเชียล, การล่อลวงค่านิยม และพฤติกรรมทางเพศผิดปกติ เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อเป็นการหาทางออกในเรื่องนี้อย่างจริงจัง นักวิชาการจึงได้ปรึกษาหารือกันในเวทีการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติที่ผ่านมา ผลมีการเสนอให้เพิ่มหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน ให้เด็กรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันในการใช้การใช้งานอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เด็กรู้เท่าทัน ตระหนักถึงผลเสียจากการใช้โซเชียลที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งเรียนรู้วิธีการใช้อย่างเหมาะสม
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้แนะนำวิธีการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตในครอบครัวด้วยหลัก 3 ต้อง 3 ไม่ คือ ต้องกำหนดเวลา, ต้องกำหนดรายการ ต้องเล่นกับลูก และไม่ใช้อินเทอร์เน็ตในห้องนอน, ไม่ใช้เวลาของครอบครัว และพ่อแม่ต้องไม่เป็นแบบอย่างที่ผิด
อีกทั้งยังให้คำแนะนำในการใช้อินเทอร์เน็ต คือ ต้องเล่นอินเทอร์เน็ตแบบรู้เป้าหมาย อย่าใช้ความรู้สึก เช่น เล่นเพราะเบื่อ เหงาหรือเล่นไปเรื่อยๆ ควรควบคุมเวลาใช้งาน ใช้วิจารณญาณกับเนื้อหาและใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิต
อ้างอิงจาก