ในปัจจุบันสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในโซเชียลมีอิทธิพลอย่างมากไม่ว่าจะกับวัยไหนโดยเฉพาะวัยเด็กเล็กที่มักจะได้ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอนานเป็นพิเศษ จะด้วยการส่งมอบจากคุณพ่อคุณแม่หรือการร้องเรียกจะดูเองเพราะติดใจกับความสนุกสนานในการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของภาพที่ปรากฏในจอ
แล้วแบบนี้จะส่งผลอย่างไรบ้างกันนะ กับพัฒนาการร่างกายและพฤติกรรมของพวกเขา
วันนี้ทาง Parents One จึงได้นำสาระดีๆ จากคุณหมอแอม ( แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ ) เจ้าของเพจ เรื่องเด็กๆ by หมอแอม ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับ “อิทธิพลสื่อที่มีต่อเด็กเล็ก” ซึ่งรับรองได้เลยว่าจะได้ทั้งความรู้ความเข้าใจ และความเพลิดเพลินในการรับชมแน่นอนค่ะ มาดูด้วยกันเลย
ปัญหาโซเชียลคืออะไร
ปัจจุบันปัญหาโซเชียลเยอะมากเลยค่ะ เพราะว่าเด็กๆ ในยุคปัจจุบัน เขาเป็นเด็กยุค Gen Alpha ใช่ไหมคะ หลายคนคงเคยได้ยินคำศัพท์คำนี้มา เด็กยุคเจนอัลฟ่า คือเด็กยุคใหม่ค่ะซึ่งเขาโตมากับพวกหน้าจอ แท็บเล็ต, สกรีนต่างๆ ปัญหาที่เราเจอบ่อยคือคุณพ่อคุณแม่หลายคนมักจะต้องทำงานกับหน้าจอเช่นเดียวกันแต่บางทีเด็กเขาก็ไม่รู้ ว่าพ่อแม่ทำงานอยู่ พอเห็นก็เข้าใจว่าพ่อแม่เล่นมือถือ
เขาก็เลยเกิดความอยากเล่นมือถือบ้าง หรือบางคน, บางบ้าน พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงเอง และให้คุณตาคุณยาย, คุณปู่คุณย่าช่วยเลี้ยง หลายคนคิดว่าอยากให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีแต่เขายังรู้ไม่เท่าทันสื่อโซเชียลก็เลยหยิบยื่นมือถือให้ลูกก่อนวัยอันควร ทำให้ผลเสียระยะยาวเกิดขึ้นกับเด็กได้
อิทธิพลของสื่อโซเชียลที่มีต่อเด็กคืออะไร
เหตุผลที่สื่อโซเชียลมีอิทธิพลต่อเด็กมีมากมายเลยค่ะ อันดับแรก สื่อโซเชียลหลายตัวเช่น เฟซบุ๊ก, ยูทูปหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ แม้แต่ติ๊กต็อก สิ่งเหล่านี้มีจิตวิทยาของเขาที่จะช่วยดึงดูดผู้คนในการให้อยู่กับเขา ดังนั้น เวลาที่เด็กจะดูจอพวกนี้เลยมักจะติดอยู่กับโลกของพวกนั้นนานๆ จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ค่ะ
การติดสื่อโซเชียลส่งผลกระทบอย่างไร
หมอจะแยกเป็นสองข้อค่ะ อันดับแรกคือเรื่องของ ทางกาย นะคะ อันดับที่สองคือเรื่องของจิตใจและพฤติกรรม เรื่องของทางกายจะมีผลกับเรื่องของสายตาของเด็กได้ อย่างเช่น ถ้าเกิดว่าเราดูเด็กที่ดูโซเชียลนานๆ จ้องจนตาเหล่ อาจจะมีผลเรื่องการมองเห็นของเด็กได้นะคะ ถัดไปคือเรื่องของพัฒนาการที่เห็นได้ชัด คือเรื่องพัฒนาการด้าน การพูดซึ่งเด็กหลายคนมักจะพูดช้า บางคนคิดว่าก็ให้ดูยูทูป, ภาษาอังกฤษ ภาษาต่างชาติไง เห็นไหมเด็กพูดได้มากมายแต่ในความจริง เวลาที่เด็กฝึกพูด เราควรที่จะพูดกับเขาด้วย
เด็กจะเรียนรู้การพูด จากการที่เขาฝึกพูดเอง, ต้องฝึกการใช้ลิ้นถึงจะพูดเป็น
นอกจากพัฒนาการทางด้านภาษาก็เป็นเรื่องของกล้ามเนื้อมือค่ะ การฝึกกล้ามเนื้อมือของเด็ก เวลาที่เด็กพัฒนาการกล้ามเนื้อมือ เขาจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ครบทั้งสิบนิ้วแต่ถ้าเด็กเล่นแท็บเล็ตทั้งวัน นิ้วที่ใช้ก็คือนิ้วชี้และอย่างมากคือนิ้วโป้ง สองนิ้วแค่นี้เองค่ะ
ด้านที่สองก็คือจิตใจและพฤติกรรม หลายคนสังเกตเลยว่าเวลาเด็กดูจอ นิ่งมากเลยหมอมีสมาธิดีมากแต่ลองปิดโทรศัพท์ก็จะวิ่งแบบจับไม่อยู่กันเลยทีเดียว เขาเรียกว่า สมาธิสั้นค่ะ และทำไมเด็กจึงสมาธิสั้น? เพราะสมมติในยูทูป หนึ่งนาทีมีม้าวิ่งมายี่สิบกว่าตัว ภาพเคลื่อนไหวเร็วมาก แต่พอปิดหน้าจอกลับมาสู่โลกความเป็นจริง เวลาไปฟาร์มม้า สิบนาที ม้าวิ่งมาหนึ่งตัว ทำให้เด็กรู้สึกอยู่นิ่งไม่ได้ อะไรอะไรมันดูน่าเบื่อ ทำให้รู้สึกทุกอย่างมันเชื่องช้าเลยเป็นเหตุผลให้เด็กเป็นสมาธิสั้นตามมาได้ค่ะ
ตามด้วยเรื่องพฤติกรรมของเด็กที่หมอเจอคือเรื่องของความก้าวร้าว ส่วนใหญ่เด็กที่ดูโทรศัพท์มักจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวโดยเฉพาะเวลาที่พ่อแม่ปิดโทรศัพท์ บางคนหนักถึงขนาดดึงผมแม่, ตีแม่หรือว่าเขวี้ยงของใส่คุณแม่ที่จำกัดการใช้โทรศัพท์ของเขา ปัญหาเหล่านี้หลายครั้งเกิดขึ้นจากเรื่องของสมาธิสั้นหรืออาจจะเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบที่เด็กเลียนแบบมาจากสื่อโซเชียลได้ค่ะ
เคยเจอสถานการณ์ไหนหนักที่สุดในการดูแลเด็กติดโซเชียล
ส่วนใหญ่ที่หมอเจอ เวลาที่เด็กเข้ามานอนโรงพยาบาล บางทีคุณพ่อคุณแม่ไม่สะดวกมาเฝ้าก็จะให้คุณตาคุณยายมาคอยช่วยเลี้ยง บางทีหมอเข้าไปตรวจและคุณตาคุณยายบอกว่า “แป๊บนึงนะลูก หมอตรวจแป๊บนึงเดี๋ยวปิดก่อน” หลานเอามือถือเขวี้ยงใส่หัวยายเลยค่ะซึ่งหมอตกใจมาก
เด็กไม่ถึงขวบนะคะ แต่เขาก้าวร้าวรุนแรงแบบนี้เพราะโดนขัดใจจากโซเชียล ดังนั้นอยากจะเน้นเลยนะคะว่าไม่ควรที่จะเอาสื่อหรือโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตให้ลูกดูก่อนวัยอันควรเลยจริงๆ ค่ะ
ก่อนวัยอันควรคืออายุเท่าไหร่ในการใช้สื่อโซเชียล?
ก่อนวัยอันควรคือสองขวบ อายุต่ำกว่าสองขวบ ไม่ควรให้ลูกดูหน้าจอทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นหน้าจอโทรศัพท์, แท็บเล็ตหรือหน้าจอทีวีแต่มีอย่างเดียวที่หน้าจอสามารถใช้ได้ตั้งแต่ยังเล็ก นั่นคือการวิดิโอคอลนั่นเองค่ะ เพราะว่าภาพเคลื่อนไหวมันจะเป็นภาพช้าๆ เป็นการพูดคุยกับคนผ่านหน้าจอโทรศัพท์เฉยๆ
ทำไมต้องรอให้สองขวบจึงใช้ได้?
มีการศึกษาวิจัยมาแล้วว่าก่อนอายุสองขวบ เด็กจะมีปัญหาของการควบคุมตัวเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ได้เวลาติดแท็บเล็ตหรือหน้าจอ หากติดก็จะติดอยู่แบบนั้น เมื่อถูกเอามือถือออกเขาก็จะไม่สามารถกลับมาสู่โลกความเป็นจริงได้
ป้องกันอย่างไรไม่ให้ลูกติดโซเชียล
วิธีการป้องกันเลยนะคะ คือการจำกัดการเล่น หรือก่อนที่เราจะยื่นโซเชียลให้เขา เราต้องมั่นใจก่อนว่าเขาควบคุมตัวเองได้แล้ว สองขวบนะคะ อย่างที่หมอบอกไป
หากลูกติดไปแล้วจะมีทางไหนดึงกลับมาได้บ้าง
เด็กที่ติดไปแล้วนะคะ แบ่งก่อนว่าเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโตค่ะ ถ้าเด็กเล็กหมายถึงคนที่ยังไม่สามารถโต้เถียงกับเราได้ เป็นโอกาสของเราที่จะจำกัดการเล่นของลูกแต่แน่นอนว่าเด็กจะต้องอาละวาด ก่อนที่เราจะเลิกหน้าจอให้เด็กเราต้องคุยกับคนในบ้านก่อนว่าเรากำลังจะปรับพฤติกรรมเขา และที่สำคัญคือทำตัวเป็นแท็บเล็ตตัวเป็นๆ ให้เขาแทน สมมติลูกติดเพลงดิสนีย์ก็ร้องเพลงให้ฟังไปเลยค่ะ
ส่วนในกลุ่มเด็กโตคือกลุ่มที่สามารถเถียงพ่อแม่ได้แล้วนั่นเอง แน่นอนว่าถ้าเราไปดึงแท็บเล็ตมาจากเขา เขาต้องเถียงเรา ดังนั้นควรที่จะต้องหาข้อตกลงร่วมกันกับลูกแต่ต้องตั้งข้อแม้ให้เขาด้วยว่าควรที่จะทำกิจวัตรประจำวันหรือทำการบ้านให้เสร็จก่อนที่จะเล่น และถ้าเกิดจำกัดเวลาได้ ก็ค่อยชมเชยเขาทีหลังค่ะ
มีอะไรอยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่บ้าง
เด็กถึงติดโซเชียลเกิดจากการที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับเขา ทำให้เขาต้องมาหาโลกที่เล่นกับเขาแทนนั่นก็คือโลกในโซเชียล หมออยากจะฝากว่าการปรับพฤติกรรมของลูกหรือการสอนลูก, การอยู่ร่วมกับเขา ไม่มีคำว่าสายเกินไปค่ะ
ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ดีกว่าวันข้างหน้าเราต้องมานั่งเสียใจนะคะเพราะวัยเด็กของลูกอยู่กับเราแค่ไม่นานค่ะ
สนับสนุนโดย : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์