พักหลังมานี้คุณพ่อคุณแม่อาจได้เห็นว่าการกินมังสวิรัติ (veganism) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เราได้ยินประโยชน์และสิ่งดี ๆ จากการกินมังสวิรัติ ว่านอกจากจะดีต่อร่างกายแล้ว ยังดีต่อโลกใบนี้อีกด้วย แต่ถ้าอยากเปลี่ยนมากินเข้าจริง จะดีต่อสุขภาพของเราและลูกน้อยไหมนะ?
ถึงแม้ว่าการกินอาหารที่ทำจากพืชผักผลไม้อย่างเดียวจะส่งผลดีต่อร่างกาย แต่ในเวลาเดียวกันก็มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในแง่ของสารอาหารที่จะได้รับค่ะ สิ่งเหล่านั้นมีอะไรกันบ้าง เรามาดูกันเลยดีกว่า
วีแกนคืออะไร?
วีแกน หรือที่เรามักรู้จักในชื่อไทยว่ามังสวิรัติ คือทางเลือกในการรับประทานอาหารอย่างหนึ่ง โดยคำว่ามังสวิรัตินั้นประกอบไปด้วย “มังสะ” หรือเนื้อสัตว์ และ “วิรัติ” ที่แปลว่าการงดเว้น
แน่นอนว่าการกินมังสวิรัตินั้นไม่ได้มีแค่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายหมวดหมู่ ซึ่งหมวดหมู่ของการกินมังสวิรัติสามารถแยกได้ถึง 6 ประเภท ได้แก่:
- Vegan (มังสวิรัติบริสุทธิ์) ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจากสัตว์
- Lacto-ovo vegetarian (มังสวิรัตินมและไข่) ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่ยังรับประทานนมและไข่
- Lacto vegetarian (มังสวิรัตินม) รับประทานนม แต่งดไข่
- Ovo vegetarian (มังสวิรัติไข่) รับประทานไข่ แต่งดนม
- Pesco vegetarian (มังสวิรัติปลา) ไม่รับประทานเนื้อ แต่ยังรับประทานเนื้อปลาและอาหารทะเล
- Semi vegetarian (กึ่งมังสวิรัติ) ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่หรือเนื้อแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู) แต่ยังรับประทานเนื้อปลา ไก่ นม และไข่
ซึ่งการกินเจ ก็นับเป็นมังสวิรัติอย่างหนึ่ง แต่จะงดทานผักฉุน 5 ประเภท อาหารรสจัด และรักษาศีลในช่วงเวลาที่กินเจอีกด้วย
ข้อดีของการกินมังสวิรัติ
การเลือกกินมังสวิรัตินั้นมีหลากหลายสาเหตุ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องสุขภาพนั่นเองค่ะ เพราะการรับประทานมังสวิรัตินั้น นอกจากจะลดความเป็นไปได้ในการเกิดโรคอ้วน โรคหัวใจ ลดความดัน คลอเรสเตอรอล และอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้ นอกจากนี้แล้ว การกินมังสวิรัติยังช่วยป้องกันไม่ให้เรารับประทานไขมันและคลอเรสเตอรอลมากเกินไปในชีวิตประจำวันอีกด้วย
อีกหนึ่งข้อดีของการรับประทานมังสวิรัติคือการช่วยลดโลกร้อน อ่านถึงตรงนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยใช่ไหมคะ? การทานมังสวิรัติเป็นอีกทางที่ช่วยลดรอยเท้านิเวศน์จากการบริโภค เพราะการปศุสัตว์นั้นใช้น้ำ พื้นที่ และพลังงานเป็นปริมาณมากกว่าการปลูกผักค่ะ
เด็กกินมังสวิรัติได้ไหม?
The Academy of Nutrition and Dietetics สหรัฐอเมริกา ได้ระบุไว้ว่าการรับประทานมังสวิรัติอย่างถูกวิธีนั้นสามารถช่วยพัฒนาสุขภาพและป้องกันโรคภัยบางชนิดให้กับผู้รับประทานได้
แน่นอนว่าเด็กวัยเจริญเติบโตสามารถกินมังสวิรัติได้ แต่ควรรับประทานอย่างถูกวิธีเพื่อให้เขาได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนค่ะ การกินมังสวิรัตินั้นตัดตัวเลือกในการรับประทานอาหารที่มีโปรตีน แคลเซียม ไขมันและวิตามินจากเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ หากต้องการให้ลูกน้อยกินมังสวิรัติ ควรให้กินของที่มีสารอาหารทดแทนเพื่อร่างกายที่แข็งแรงค่ะ
สารอาหารทดแทนที่ควรได้รับ
อย่างที่กล่าวไว้ การกินมังสวิรัตินั้นเป็นการตัดตัวเลือกในการรับสารอาหารจากเนื้อและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากสัตว์ ซึ่งนั่นแปลว่าคุณพ่อคุณแม่ควรทดแทนสารอาหารนั้น ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยค่ะ
- โปรตีน: เนื่องจากอาหารมังสวิรัติส่วนใหญ่มีปริมาณโปรตีนที่น้อยกว่าเนื้อสัตว์ ควรเพิ่มอาหารจำพวกถั่วและธัญพืชต่าง ๆ ทดแทนโปรตีนในเนื้อสัตว์ โปรตีนถั่วเหลืองเองก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน
- แคลอรี่: ร่างกายของเด็กต้องการแคลอรี่เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้แก่เขา อาหารมังสวิรัติมีปริมาณแคลอรี่ที่ต่ำกว่าอาหารจากสัตว์ อีกทั้งยังมีไฟเบอร์มากกว่า ทำให้เด็กรู้สึกอิ่มไวและไม่ได้รับแคลอรี่เพียงพอต่อวัน ให้เขาได้กินหลายมื้อต่อวัน หรือมีของทานเล่นระหว่างวันสามารถช่วยให้เขาได้รับพลังงานที่เพียงพอได้ค่ะ
- วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ: ส่วนใหญ่แล้วคนที่รับประทานมังสวิรัติมักได้รับวิตามิน B-12 แคลเซียม วิตามิน D สังกะสี ธาตุเหล็ก และโอเมก้า 3 ในปริมาณน้อยกว่าคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ อย่างไรก็แล้วแต่ ยังมีอาหารที่สามารถทดแทนได้ดังนี้ค่ะ:
- วิตามิน B-12: นมถั่วเหลืองหรือนมข้าวเสริมวิตามิน ซีเรียลเสริมวิตามิน และเนื้อเทียมต่าง ๆ
- แคลเซียม: บรอคโคลี่ เคล ผักกวางตุ้ง น้ำส้มเสริมแคลเซียม นมถั่วเหลืองหรือนมข้าวเสริมแคลเซียม ซีเรียล ถั่วเหลือง ถั่วขาว ข้าวโอ๊ต ข้าวขาว
- วิตามิน D: นมถั่วเหลืองหรือนมข้าวเสริมแคลเซียม และซีเรียลเสริมวิตามิน
- สังกะสี: ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง ถั่วขาว ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ ถั่วเลนทิล ผักโขม ข้าวบาร์เลย์ ถั่วลูกไก่ ถั่วลันเตา มันฝรั่ง มันหวาน เห็ด
- ธาตุเหล็ก: ซีเรียลเสริมธาตุเหล็ก ถั่วต่าง ๆ ถั่วลูกไก่ ผักใบเขียวต่าง ๆ และเต้าหู้
- โอเมก้า 3: เมล็ดเจีย เมล็ดกัญชง เมล็ดแฟลกซ์ วอลนัท ถั่วแระญี่ปุ่น สาหร่าย และเมล็ดฟักทอง
นอกจากนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามว่าลูกน้อยจำเป็นต้องรับประทานวิตามินเสริมเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือไม่ค่ะ
อ้างอิงจาก: parents, sookkasean