ปัจจุบันเราเองคงจะเห็นภาพหรือคลิปไปจนถึงการไลฟ์สดของเด็กน้อยน่ารักในหลากหลายอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นในช่องทาง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือติ๊กต็อก ซึ่งบางคนอาจจะมองและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเห็นกันจนชินตากันไปเสียแล้ว
ใช่ค่ะ บางคนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดี ที่เราจะได้แบ่งปันความน่ารักให้ญาติ และเพื่อนๆ ได้ชมกัน แถมเผลอยังมีโฆษณาติดต่อให้เด็กๆ ได้รีวิวสินค้าผ่านโซเชียลอีกด้วย
แต่ในอีกด้านการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ตั้งแต่อายุยังน้อย ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่ยุคนี้ต้องรู้และศึกษาให้ดีก่อน ก่อนตัดสินใจเปิดบัญชีโซเชียลให้ลูกหลานที่ไม่รู้ความ รวมไปถงการไลฟ์สดหรือการลงภาพลูกโดยที่ลูกไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะฉะนั้นแล้วเรามาทำความรู้จักและรับรู้ถึงสิ่งที่จะตามมาหากเราสร้างตัวตนนี้ให้ลูกผ่านโซเชียลมีเดียกันค่ะ
1. รู้จัก “Sharenting” การเลี้ยงลูก-หลาน ผ่านโซเชียลมีเดีย
คำว่า “Sharenting” อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยกันสักเท่าไรนัก โดยคำนี้มาจากคำว่า Share รวมกับคำว่า Parenting หมายถึง “การเลี้ยงลูกผ่านโซเชียลมีเดีย” ใช้เรียกพฤติกรรมของผู้ปกครองที่มักโพสต์รูป หรือวิดีโอเด็กในสถานการณ์ต่างๆ ลงบนโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ โดยในต่างประเทศมีการวิจัย และคำเตือนจากนักจิตวิทยาเด็ก ให้งดทำการโพสต์ดังกล่าว มาแล้วหลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้ เพราะจะทำให้เด็กที่เติบโตมาโดยไม่มีความเป็นส่วนตัว เด็กจะขาดความเข้าใจในเรื่องความยินยอม และสิทธิในข้อมูลของตนเอง
นอกจากนี้ยังส่งผลถึงการขาดความพึงพอใจในชีวิต เพราะถูกตัดสินความสำเร็จ หรือความผิดต่างๆ ผ่านการโพสต์ และการบอกเล่าของพ่อแม่ ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลภายนอกครอบครัว
ในทางตรงกันข้าม เด็กที่โตมาโดยที่พ่อแม่ไม่เปิดเผยภาพ หรือเรื่องราวส่วนตัวบนโลกออนไลน์ พวกเขาจะมีความเข้าใจสิทธิของตนเอง เข้าใจเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี และมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่า เพราะได้เติบโต และสร้างอัตลักษณ์ตัวตน และได้ค้นหาเพศสภาพของตัวเองในแบบที่ควรเป็น โดยไม่ถูกยึดโยงกับความเห็นหรือมุมมองจากคนนอกที่มองเข้ามา
2. โพสต์รูปลูก กดเช็กอินโรงเรียน ระวัง! พวกใคร่เด็กตามรอย
อีกทั้งประเด็นสำคัญ และส่งผลเสียต่อเด็กโดยตรงก็คือ การโพสต์รูปเด็กลงสื่อออนไลน์อาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กได้เจอกับกลุ่มคน “ใคร่เด็ก (Pedophile)” และอาจนำไปสู่อันตรายอย่างที่พ่อแม่อาจคาดไม่ถึง เช่น มีคนร้ายไปดักรอเด็กที่โรงเรียน เพราะรู้เวลาเข้าเรียน และเลิกเรียน รวมถึงบุคคลอันตรายเหล่านี้สามารถรับรู้ที่ตั้งของโรงเรียนได้ง่ายๆ จากการที่ผู้ปกครองโพสต์ภาพพร้อมเช็กอินที่ตั้งโรงเรียนลงสื่อโซเชียล นั่นเอง จึงเป็นที่มาของการ “ลักพาตัวเด็ก” ตามที่เราเห็นได้บ่อยครั้งในข่าวรายวัน
ปัจจุบันนี้การเข้าถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องง่ายที่คนส่วนใหญ่ทำได้ ดังนั้นพ่อแม่ยุคใหม่บางส่วนก็อยากจะลงรูปหรือวิดีโอน่ารักๆ ของลูกเพื่อเก็บไว้ดูภายหลัง รวมถึงแบ่งปันให้เพื่อน และญาติๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสเจอกันบ่อยได้เห็นความน่ารักนี้ด้วย แต่พฤติกรรมดังกล่าวก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ตามที่อธิบายไปข้างต้น ดังนั้น เราอาจจะลดเวลาเลี้ยงลูกในโซเชียลมาอยู่กับความเป็นจริงให้มากขึ้น เพื่อผลดีต่อตัวเด็กเอง
อ้างอิงจาก : https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1036356