Parents One

7 พฤติกรรมเช็กความบกพร่อง “การรับความรู้สึก” ในสมองของลูกน้อย!

การที่เจ้าตัวเล็กจะเติบโตได้ตามวัย มีประสาทสัมผัสที่สมบูรณ์แบบ ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไปนั้น อาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ ครอบครัว

ซึ่งประสาทสัมผัสทั้ง 7 ได้แก่ การได้ยิน การรับรส การได้กลิ่น การสัมผัส การทรงตัว การเคลื่อนไหว และการรับรู้ผ่านเอ็นข้อต่อและกล้ามเนื้อได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งหมดนี้ถูกเรียกว่า การรับรู้ความรู้สึกของสมอง (Sensory Integration) หรือ SI

ซึ่งก็คือ ความสามารถที่เด็กจะมีพฤติกรรมรับรู้ เรียนรู้ และมีทักษะในการวางตัวได้อย่างถูกต้องทุกบริบทในชีวิตประจําวัน โดยเฉพาะในช่วงที่สมองเด็กกําลังพัฒนาใน 1-3 ปีแรก ภายในสมองจะมีการจัดข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งถ้าเด็กได้รับการสอนในการเลือกใช้ข้อมูลต่างๆ อย่างถูกวิธี ก็จะทำให้เด็กพร้อมสำหรับการเรียนรู้ทุกประเภท มีความมั่นใจ ค้นพบความสามารถในด้านที่ตนถนัดได้

แต่หากคุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตพฤติกรรมของเจ้าตัวเล็กดูดีๆ แล้วพบพฤติกรรมต่างๆ เหมือนกับลูกเราไม่มีผิด แสดงว่าลูกอาจจะมีความบกพร่องด้าน “การรับความรู้สึก” ในสมองก็เป็นได้ ทางที่ดีคือ พาลูกไปรักษากับนักกิจกรรมบำบัด เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความบกพร่องที่แตกต่างกัน ก็จะช่วยให้อาการต่างๆ ดีขึ้นนั่นเองค่ะ

1. บกพร่องด้านการเคลื่อนไหว ความสนใจในการทำกิจกรรม

วิธีสังเกตง่ายๆ ก็คือ เด็กที่มีความบกพร่องในด้านนี้จะชอบเคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะในโรงเรียน และในห้องเรียน ชอบวิ่งมากกว่าเดิน ไม่ค่อยมีสมาธิ ชอบทำกิจกรรมที่ทำดูเหมือนไม่มีเป้าหมาย ไม่ค่อยมีสมาธิ ไม่นั่งนิ่งๆ วอกแวกได้ง่าย ใครเรียก หรือมีคนเดินผ่าน ก็มักจะหันไปมองตลอด

 

2. บกพร่องด้านระบบประสาทการรับความรู้สึกในสมอง

เด็กที่มีความบกพร่องในด้านนี้ มักจะอารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย ชอบโมโห รอไม่เป็น อยากได้อะไรต้องได้ทันที ไม่ชอบให้คนอื่นมาสัมผัสตัว ไม่ชอบเสียงดัง  กลัวความสูงมากกว่าปกติ ที่เด็กๆ เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าเป็นเด็กที่ไวต่อการรับความรู้สึกมากเกินไป

ทำให้มีนิสัยก้าวร้าว เพื่อนๆ ไม่อยากเล่นด้วย ไม่อยากอยู่ใกล้ จึงส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงด้านสภาพจิตใจของเด็กเหล่านี้ที่เพื่อนมักจะไม่ค่อยชอบเล่นด้วยนั่นเอง

 

3. บกพร่องด้านการติดต่อสื่อสาร และภาษา

เด็กบางคนมักจะพูดช้า พูดไม่ชัด หรือพูดไม่รู้เรื่อง ทำให้เเด็กเหล่านี้เกิดการสื่อสารที่บกพร่องกับเพื่อนๆ ส่งผลกระทบไปถึงการเข้าสังคมไม่ได้เลยก็มี เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของลูกน้อย แล้วเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

ที่สำคัญ คือ อย่าปล่อยลูกให้มีพฤติกรรมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือมองว่าอาจเป็นเเค่เรื่องเล็กๆ พอโตแล้วก็หายเป็นปกติ ซึ่งมันไม่ใช่แน่นอน และอาจจะไปสร้างบาดแผลรอยใหญ่ทิ้งไว้ในใจลูกแล้วได้เช่นกัน

 

4. บกพร่องด้านสมดุลในการทรงตัว 

เด็กที่เกิดอาการบกพร่องด้านการทรงตัว มักจะเสียสมดุลทางร่างกายได้ง่าย เช่น สะดุดหกล้มบ่อยๆ ชอบเอามือท้าวคาง หรือที่หัว ชอบหาอะไรพิง เหนื่อยง่าย ทรงตัวได้ไม่ค่อยดีเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ จับดินสอแล้วหลุดมือ ทำให้ต้องใช้แรง หรือความพยายามเยอะมากที่จะทรงตัว

 

5. บกพร่องด้านการเล่น

เด็กๆ มักจะเล่นการต่อจิ๊กซอว์ หรือสร้างบ้านเป็นบล็อกๆ ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าต้องต่อแบบไหน หรือว่าตัวอะไรที่ควรต้องต่อเพิ่มลงไป ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการวางระบบความคิดที่ไม่สามารถจัดให้เป็นระบบระเบียบได้

 

6. บกพร่องด้านกล้ามเนื้อตึงเกร็งผิดปกติ

เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็ก และมัดใหญ่ของเด็กมีความตึงเกร็งผิดปกติ จึงทำให้เด็กมักมีปัญหาด้านการอ่าน และการเขียนหนังสือ เช่น เด็กเขียนตัวหนังสือเล็กใหญ่ไม่เท่ากันใน 1 ประโยค หรือการออกแรงเขียนกดในสมุดขณะที่เขียนมากหรือน้อยเกินไป ซึ่งอาจทำงานเสร็จล่าช้า หรือถ้าทำเสร็จเร็วก็จะงานไม่เรียบร้อย

 

7. บกพร่องด้านปรับตัวเข้าสังคม

เด็กในลักษณนี้จะเป็นพวกที่ไม่ชอบการปรับตัว เพื่อเข้าสังคม ขี้อาย รักการอยู่แบบสันโดษ รวมทั้งเลี่ยงการทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ จึงทำให้มีปัญหาเรื่องทักษะการปรับตัวเข้าสังคมอยู่บ่อยๆ หรือในเด็กบางคนก็อาจจะมีปัญหาด้านการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย เช่น จำทางกลับบ้านไม่ได้ เดินเลี้ยวผิดซอย เป็นต้น นั่นจึงทำให้เด็กๆ เสียความมั่นใจในตัวเองไปพอสมควร

เป็นอย่างไรบ้างคะ กับ 7 พฤติกรรมที่ได้กล่าวไปข้างต้น คุณพ่อคุณแม่เคยเจอลูกๆ มีพฤติกรรมแบบนี้บ้างรึเปล่า หากเจอก็อย่านิ่งดูดาย เพราะคิดว่าเดี๋ยวลูกก็คงจะหายเองนะคะ ต้องรีบพาไปรักษากับนักกิจกรรม เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีนั่นเองค่ะ

ซึ่งหลักๆ แล้ว เขาจะเน้นให้เด็กๆ ทำกิจกรรมด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเองเป็น และสามารถเอาตัวรอดจากโลกใบกว้างนี้ด้วยตัวเองได้นั่นเอง