เมื่อเด็กวัยเล็กในวันนั้นเติบโตขึ้นเป็นเด็กวัยรุ่นในวันนี้จึงทำให้ระยะของเขาและครอบครัวห่างขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัญหานี้สามารถพบเจอได้กับทุกครอบครัวเมื่อบุตรหลานเริ่มก้าวเข้าสู่วัยที่มีโลกส่วนตัวและความคิดเป็นของตัวเองสูง จากที่มีอะไรก็ปรึกษาพ่อแม่ก็มักจะเทความสำคัญไปให้เพื่อน มีเรื่องลำบากใจอะไรก็ไม่บอกกันแต่ชอบแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ระยะห่างของพ่อแม่และลูกจึงมีมากขึ้นไปเรื่อยๆจนน่าเป็นกังวล
แต่ในความจริงปัญหาเหล่านี้ใช่ว่าจะไม่มีทางออกซะทีเดียว ถ้าเราได้ทำความเข้าใจกับธรรมชาติของวัยเขา ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของเหล่าวัยรุ่นกันให้ไม่วุ่นกับการดูแลกันค่ะ
ทำไมวัยรุ่นถึงมีระยะห่าง
สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนคือเรื่องการเจริญเติบโต เด็กนั้นเติบโตขึ้นอยู่ทุกวันโดยที่เราไม่ทันได้สังเกต เวลาผ่านไปไม่กี่ปี จากที่เคยใช้คำนำหน้าว่า เด็กชาย, เด็กหญิงก็กลายเป็นนายและนางสาวไปแล้ว เพราะมุมมองที่เรามองว่าเขาเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลานี่เองจึงทำให้เรารู้สึกว่าเขายังต้องอยู่ในสายตาตลอดเวลา รวมไปถึงต้องคอยควบคุมดูความประพฤติให้อยู่ในลู่ทางและมีอะไรเรามักต้องรู้เรื่องราวของลูกอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งในความจริงแล้ว พอเด็กๆเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเขาจะมีโลกใบอื่นเพิ่มเข้ามาไม่ใช่เพียงพ่อแม่และครอบครัว นั่นคือเรื่องปกติของวัยที่กำลังเจริญพันธุ์
แต่เมื่อความสำคัญของแต่ละคนถูกให้ไม่เท่ากัน ลูกรู้สึกถูกผู้ปกครองควบคุม คุณพ่อคุณแม่รู้สึกลูกไม่ได้เป็นเด็กดีในโอวาทคนเดิม คำถามต่างๆจึงเริ่มตามมาและลามไปถึงความไม่เข้าใจจนเกิดระยะห่างในที่สุดเพราะต่างคนต่างไม่ได้ใช้เหตุผลมากพอในการเจรจากัน
เรามาดูไปด้วยกันทีละข้อนะคะว่าสิ่งที่วัยรุ่นต้องการนั้นคืออะไรแล้วเราจะรับมือเขาได้อย่างไรบ้าง
สาเหตุที่วัยรุ่นขอออกห่างจากพ่อแม่
ต้องการอิสระ
วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการอิสระและความเป็นส่วนตัวสูง อาทิ ต้องการห้องนอนที่เป็นของตนเอง ต้องการเวลาที่จะได้ทำกิจกรรมที่เขาเท่านั้นที่ชอบ ต้องการลองดื่มหรือทานในส่งที่อยากลอง ได้คบกับเพื่อนต่างเพศในสถานะอื่นที่ไม่ใช่แค่เพื่อน วัยรุ่นอยากทำทุกอย่างโดยไม่มีใครมาควบคุมหรือชี้นิ้วสั่งว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดีเพราะพวกเขาอยากจะมีอิสระในการคิดและเลือกด้วยตนเอง
ต่อต้านไปอย่างอัตโนมัติ
นี่เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นต่อมาจากผลกระทบในข้ออิสระ เมื่อวัยรุ่นเรียกขออิสระแล้วไมไ่ด้อย่างที่ต้องการ ความรู้สึกต่อต้านไม่อยากรับฟังจะเกิดขึ้นในทันที อาทิ อยากจะมีห้องส่วนตัวแต่พ่อแม่มักบอกว่าอยู่กับน้องไปก่อนหรือนอนรวมไปก่อน, กิจกรรมนี้ผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย ลูกควรเอาเวลาไปเรียนหนังสือหรือท่องตำรามากกว่า, ยังเด็กอยู่อย่าพึ่งลองเลย มันไม่มีประโยชน์, คนนี้ดีไม่ดีจะรู้ได้ยังไง จะรีบมีไปทำไม แม้ผู้ใหญ่หรือคนเป็นพ่อแม่จะพูดด้วยมุมมองของความเป็นห่วงแต่ในความรู้สึกของวัยเลือดร้อน เขากลับรู้สึกถูกควบคุมและจูงไปในทางที่ไม่ชอบ จึงเริ่มมีอาการต่อต้านออกมาเองอย่างช่วยไม่ได้
อ่อนไหวกว่าที่เคยเป็น
เขาว่าเด็กร้องไห้, เด็กโกรธ ให้ขนมหรือซื้อของเล่นให้เดี๋ยวก็หายซึ่งนั่นไม่ใช่กับวัยรุ่น ความรู้สึกต่างๆของพวกเขาจะรู้สึกและสัมผัสได้เร็วขึ้นมากกว่าตอนยังเด็ก คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจจะยังติดภาพว่าเวลาลูกงอนหรือไม่พอใจให้ขนมหรือรางวัลสักหน่อยเขาจะหันกลับมาคุยด้วย แต่กลายเป็นยิ่งจุดชนวนให้ลูกเราที่กลายเป็นวัยรุ่นแล้วรู้สึกโกรธไปใหญ่เพราะเขาจดและจำทุกๆอย่างที่ถูกตำหนิหรือต่อว่าไว้ไม่มีวันลืม จนพัฒนาไปเป็นความรู้สึกด้านลบที่จะพูดคุยหรือปรึกษาด้วยเพราะเพียงแค่คำว่าความคิดของเขามันดูเด็กหรือไม่สำคัญ ความรู้สึกเสียใจและโกรธจะถ่าโถมเข้ามาในทันที
และความอ่อนไหวนี้เองก็ต่อยอดไปถึงจุดที่ทำให้วัยรุ่นมันจะตัดสินใจหุนหันพลันแล่น เปลี่ยนใจได้ง่าย ไม่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะยังมีความรู้สึกรับมือไม่ถูกกับอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมาในช่วงอายุของเขา จึงเป็นเหตุให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความรำคาญในการกระทำของลูกจนต้องต่อว่าหรือเฆี่ยนตี และนั่นก็จึงเป็นเหตุผลอีกนั่นล่ะที่ทำให้ลูกอยากอยู่ให้ไกลจากความคิดผู้ปกครอง
เพื่อนคือโลกใหม่
สิ่งหนึ่งที่คนเป็นพ่อแม่ต้องทำใจยอมรับคือเมื่อถึงวัยนี้แล้วสิ่งที่เป็นปัจจัยเสริมเข้ามานอกจากปัจจัยสี่ของมนุษย์ คือ เพื่อน สำหรับวัยรุ่น หากได้เจอเพื่อนที่ดีก็จะพากันไปในทางที่ดีแต่หากได้เจอเพื่อนที่พาไปในทางไม่ดี เขาก็พร้อมจะไปเช่นกันเพราะวัยรุ่นนั้น เพื่อนคือบุคคลที่ทรงอิทธิพลไม่แพ้กใครเลยทีเดียว และนั่นเองจึงเป็นเหตุที่ทำให้ความห่วงของหัวอกคนเป็นพ่อแม่นั้นสูงเสียจนต้องเข้าไปคอยดูคอยส่องชีวิตของลูกเพื่อไม่ให้คนที่เรารักออกนอกลู่นอกทางหรือทำอะไรที่ไม่เหมาะสม มันเลยกลายเป็นชนวนที่ทำให้วัยรุ่นอยากออกห่างเข้าไปอีกกับความหวังดีนี้เพราะมันส่งผลให้เหล่าวัยรุ่นรู้สึกถูกตัดสินจากมุมมองเพียงมุมเดียว ไม่เป็นที่ยอมรับและยังถูกจำกัดให้อยู่แต่ในขอบเขตที่พ่อแม่สั่งไว้
คุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไร
ทำความเข้าใจกับธรรมชาติของวัยรุ่น
เป็นคำง่ายๆที่ทำได้ยากที่สุดในการเป็นพ่อแม่เพราะเรามักจะมีความห่วงใยและหวังดีต่อเขาเสมอไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ก็ตาม จึงทำให้บางครั้งเราคิดแทนและคิดนำไปก่อนลูกมากมายจนเกิดประเด็นว่าเขารู้สึกไม่อยากให้ผู้ปกครองเข้ามายุ่มย่ามในชีวิต ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของลูกว่าเขาไม่ใช่เพียงเด็กตัวน้อยของพ่อแม่อีกต่อไป ต้องปฏิบัติต่อเขาให้เหมือนคนๆหนึ่งที่มีความคิดและความมั่นใจเป็นของตนเอง
ไม่ขุดคุ้ยความผิดเก่ามารวมกับความผิดใหม่
วัยรุ่นใจร้อน ไม่ใช่เพียงคำเปรียบเทียบแต่เพราะใจของเด็กวัยนี้ รวดเร็วและอ่อนไหว การพูดคุยเชิงลบจะทำให้เตลิดได้ง่ายกว่าเด็กวัยเล็กมาก เช่นนั้นแล้วทุกครั้งที่มีการตักเตือนหรือต่อว่าควรพูดให้สั้นและได้ประเด็นที่ต้องการสื่อ เขาจะรับฟังได้มากกว่าการพูดพร่ำมากมาย รื้อเรื่องเก่าๆขึ้นมาพูดตอกย้ำ บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่ายิ่งพูดจะยิ่งทำให้วัยรุ่นรู้สึกยอมรับและทำตามแต่ผลมันกลับตรงกันข้ามเพราะเขาจะยิ่งต่อต้านและรู้สึกคำของคนเป็นพ่อแม่ ไม่น่าฟัง
ดังนั้น หากมีสิ่งไหนที่รู้ว่าผิดและควรอบรม ให้พูดแต่ประเด็นที่เกิดขึ้นให้ได้ใจความและกระชับ การรับฟังของลูกจะเปิดและยอมรับได้อย่างแน่นอน
ห่วงใยแต่ไม่วุ่นวาย
บางครั้งเพราะพ่อแม่มักคิดว่าเราคือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด เราจึงมักจะทำอะไรตามที่เราคิดโดยไม่ทันได้ถามหรือดูความพอใจของเขาก่อน ซึ่งวัยรุ่นนั้นจากข้างต้นที่บอกไปว่าเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้การได้มีอิสระ, การเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในสังคมอื่นเพิ่มมากกว่าแค่สังคมของครอบครัว หากเราเข้าไปห่วงมากจนเกินไปจะทำให้ลูกที่เป็นวุ่ยรุ่นรู้สึกว่าเรากำลังเข้าไปวุ่นวายในชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นผู้ปกครองจะต้องมีการลำดับระยะการเข้าหาลูกของตนอย่างเหมาะสม
อาทิ อาจเป็นคนไปรับไปส่งลูกแต่จะไม่เซ้าซี้ซักไซ้ถามว่าไปกับใคร กลับกี่โมง แต่มีการกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าต้องกลับเวลาไหน เลทสุดได้เท่าไหร่ บอกทุกอย่างให้ลูกรับทราบและรับผิดชอบตนเองแล้วเขาจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นไปอีกระดับ
รับฟังให้มากกว่าสอนสั่ง
เขาว่ากันว่า พ่อแม่ต้องคอยอบรมและสั่งสอนลูกให้เป็นคนดีแต่กับวัยรุ่นนั้น สิ่งที่เขาต้องการมากกว่าคนพูดที่ดีคือคนฟังที่ดียิ่งกว่า เมื่อเราเงียบและตั้งใจรับฟังความรู้สึกของลูก เขาจะเป็นฝ่ายเข้าหาและปรึกษาเราเองเสียเกือบทุกเรื่องไม่ต่างจากเพื่อน เหตุที่วัยรุ่นต้องการเพื่อนเพราะวัยของเขาต้องการผู้ฟังที่เข้าอกเข้าใจความเป็นไปในช่วงอายุเดียวกัน หากเราสามารถตอบสนองความต้องการในเรื่องนี้ได้ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ลูกรู้สึกเรากลายเป็นเพื่อนที่ดีของเขาและเป็นพ่อแม่ที่พึ่งพาได้ไปในตัว
หัวใจสำคัญคือต้องรับฟังอย่างตั้งใจและไม่ขัดเวลาลูกแสดงความเห็น มองความคิดเขาให้เป็นของเขา ไม่แทรกแซงหรือตัดบท ยกเว้นเสียแต่ว่าจะรู้สึกสิ่งที่คิดเห็นอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดีถึงค่อยแย้งแต่ก็ต้องแย้งด้วยหลักของเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง
เพียงเท่านี้ก็จะสามารถช่วยลดระยะความห่างของคุณพ่อคุณแม่และลูกที่เข้าสู่วัยรุ่นได้แล้วค่ะ
ที่มา : dmh.go.th, talkaboutsex, p4teen