Parents One

Iceberg Model เจาะภูเขาน้ำแข็ง สำรวจพฤติกรรม เข้าใจเรา..เข้าใจลูก

บ่อยครั้งที่พ่อแม่อย่างเราๆ สุดแสนจะเหนื่อยใจกับพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูก ไวกว่าความคิด เราเอ่ยปากตำหนิ ว่ากล่าว หรือแม้กระทั่งลงโทษ โดยไม่ทันได้ทบทวนให้ดีว่า “อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกแสดงออกแบบนั้น”

หรือแม้กระทั่งเราเองที่ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ พลั้งเผลอทำตัวไม่น่ารักกับลูก จนต้องมานั่งกุมหัวคิดวกวนตั้งคำถามกับตัวเองว่า “นี่เราทำอะไรลงไปเนี่ย!”

วันนี้ Parents One มีเคล็ดลับมาบอกต่อ! ขอเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านมาเจาะลึกพฤติกรรมผ่านภูเขาน้ำแข็งของซาเทียร์ ขุดให้เจอต้นตอปัญหา ทำความเข้าใจตัวเองและผู้คนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ้าตัวน้อยที่เป็นดังแก้วตาดวงใจ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

และนี่เป็นเพียงบทเรียนหนึ่งจากกิจกรรม Family Learning Class ห้องเรียนอ่านลูก ของ Club Sunshine x Daisy Ray ซึ่งที่นี่ยังคงมีกิจกรรมดีๆ อีกมากมาย รอให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านมาเรียนมารู้เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจ เชื่อมสายสัมพันธ์ในครอบครัวให้แข็งแรง สามารถติดตามได้ที่เพจ Daisylearninggarden

ถ้าพร้อมแล้ว คว้ากระดาษและปากกา มาเริ่มขุด เจาะ กะเทาะ ค้นหาความจริงจากภูเขาน้ำแข็งกันเลย!

ภูเขาน้ำแข็งของเวอร์จิเนีย ซาเทียร์

เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ เป็นนักจิตวิทยาหญิงชาวอเมริกัน ผู้ได้รับการขนานนามว่า “มารดาแห่งจิตบำบัดครอบครัว” มีชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ.1916-1988 เธอมองว่าคนเราก็เหมือนภูเขาน้ำแข็ง มองกันแต่ภายนอกก็เห็นเพียงยอดเล็กจิ๋ว แต่ตัวตนและความรู้สึกที่แท้จริงนั้นยิ่งใหญ่อยู่ใต้น้ำต่างหาก และที่สำคัญ คน=คน ถ้าเราหงุดหงิด โมโห มีอารมณ์ฉุนเฉียวเป็น ลูกเองก็ไม่ต่างกัน

สำหรับ Iceberg Model ของซาเทียร์จะใช้ภูเขาน้ำแข็งเป็นตัวแทนจิตใจ ถอดความซับซ้อนในจิตใจออกมาเป็นชั้นๆ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจพฤติกรรมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะทำเพื่อทบทวนตัวเองหรือทำความเข้าใจลูกก็ได้ค่ะ

พฤติกรรม (Behaviour)

คือ พฤติกรรมที่แสดงออก หรือท่าทีที่ใช้รับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจจะเป็นพฤติกรรมไม่ดีที่เรารู้สึกไม่พอใจ ไม่ชอบในตัวเอง-ตัวลูก หรือเหตุการณ์ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างกันในครอบครัว ให้เขียนเอาไว้บนยอดภูเขาน้ำแข็ง ตั้งเป็นโจทย์ แล้วเราจะมาหาที่มาที่ไปของพฤติกรรมนี้ตามระดับชั้นที่ลึกลงไป

ความรู้สึก (Feeling)

ความรู้สึกเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ทำบางสิ่งบางอย่าง และเมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน ลองพิจารณาดูนะคะว่าพฤติกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราหรือลูกรู้สึกอย่างไรบ้าง เช่น หงุดหงิด เหงา เศร้าใจ โมโห เจ็บปวด

ความรู้สึกต่อความรู้สึก (Feeling about Feeling)

นอกจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างเราทำพฤติกรรมดังกล่าว อาจมีหลายๆ ความรู้สึกต่อเนื่องมาด้วย ให้พยายามหาความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อจากความรู้สึกเหล่านั้น หลังจากโกรธ แล้วรู้สึกผิดด้วยหรือเปล่า น้อยใจ เสียใจที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ด้วยหรือไม่ เราจะเริ่มเข้าใจตัวเองและลูกมากยิ่งขึ้น

การรับรู้ ทัศนคติ (Perception)

มาสำรวจตัวเองกันว่าเรามีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ อย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีความคิดเห็นแบบไหน โดยแบ่งเป็นทัศนคติที่มีต่อตัวเอง คนอื่น รวมถึงโลกและบริบทรอบตัว ซึ่งทัศนคติเหล่านี้มาจากประสบการณ์ในชีวิตที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราจนทุกวันนี้ ในขณะเดียวกัน ลูกที่มองเราเป็นต้นแบบอยู่เสมอก็จะได้รับอิทธิพลจากทัศนคติเหล่านั้น และมีความคิด ความเชื่ออะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเรา แต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียวนะคะ ถ้าได้ลองพูดลองคุยอาจจะได้ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจลูกมากขึ้นก็เป็นได้

ความคาดหวัง (Expectations)

ทุกวันนี้เราคาดหวังอะไรบ้างนะ อยากทำอะไร อยากเป็นอะไร อยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวดำเนินไปแบบไหน แบ่งออกเป็นความคาดหวังที่มีต่อตัวเอง คนอื่น โลกและบริบทรอบตัวเช่นเดียวกันกับทัศนคติ

เราควรจะรู้เท่าทันความคาดหวังของตนเองเพื่อหาสมดุล ไม่ผูกติดกับความคาดหวังมากจนเกินพอดี เพราะหากเราผิดหวังขึ้นมาอาจเป็นบาดแผลฝังลึก ย้อนกลับมาทำร้ายเราได้เรื่อยๆ และอย่าลืมที่จะช่วยลูกรับมือกับความคาดหวังของเขาด้วยนะคะ

ตัวตน (Self)

ชั้นสุดท้ายท้ายสุดของภูเขาน้ำแข็ง คือตัวตนลึกๆ ที่เป็น ซึ่งซาเทียร์เรียกว่า “พลังชีวิต” และบางคนเรียกว่าจิตวิญญาณ หรือความสามารถในการรับรู้ ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราแสดงออก ไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่พยายามจะเป็น แต่คือสิ่งที่เราเป็นจริงๆ

เติมอาหารใจ เพิ่มพลังชีวิต

ร่างกายจะเติบโตแข็งแรงก็ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ต่างอะไรกับจิตใจที่ต้องการสารอาหารหล่อเลี้ยงให้แข็งแรงเหมือนกัน และเมื่อเราเจาะภูเขาน้ำแข็งจนถึงชั้นสุดท้าย เราจะค้นพบสิ่งที่เราหรือลูกต้องการ

ทางแก้ไข คือเติมอาหารใจในส่วนที่ขาด หมั่นให้อาหารใจครบทุกหมู่อย่างเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป และต้องไม่ลืมเติมอาหารใจให้กับตัวเองด้วยนะคะ เพราะถ้าเราขาดอาหารใจ พลังชีวิตหดหาย ลูกเราก็อาจสั่นคลอนตามไปด้วย ใจเราไม่แข็งแรง ลูกก็ไม่แข็งแรงตาม

โดย อาหารใจ 10 หมู่ ได้แก่

เข้าใจเรา..เข้าใจลูก

การเขียนภูเขาน้ำแข็งทำให้เราเข้าใจการกระทำของตัวเองมากขึ้น ก่อนที่จะรู้ตัว อารมณ์คุกรุ่นอาจจะเบาบางลง และหายไปขณะกำลังเขียนภูเขาน้ำแข็งก็ได้ แต่ในการทำความเข้าใจลูกอาจจะไม่เพียงพอ เพราะเราเขียนภูเขาน้ำแข็งของลูกขึ้นมาด้วยความคิดเห็นของเราเอง คิดว่าลูกจะรู้สึกแบบนั้น คิดว่าลูกจะมีทัศนคติแบบนี้

ฉะนั้น แทนที่จะด่วนสรุปตัดสิน เราควรหยิบสิ่งที่เขียนขึ้นมาได้ มาตั้งคำถามพูดคุยกับลูกเพื่อสะท้อนความรู้สึกที่แท้จริง เช่น “ลูกรู้สึกโกรธอยู่ใช่ไหม” (ความรู้สึก) “นอกจากโกรธแล้ว หนูยังเสียใจที่รู้สึกโกรธด้วยใช่หรือเปล่า” (ความรู้สึกบนความรู้สึก) “หนูไม่ชอบทำการบ้านเหรอคะ” (ทัศนคติ)

ยิ่งเราให้เวลากับการตั้งคำถามพูดคุยมากเท่าไร ก็ยิ่งค้นพบสิ่งซ่อนเร้นที่อยู่ภายในใจของลูก ยิ่งรู้จักลูกมากขึ้นเท่านั้น ในช่วงแรกอาจจะยากลำบากไปบ้าง แต่ถ้าอาศัยการฝึกฝนเป็นประจำสม่ำเสมอ คุณพ่อคุณแม่ก็จะใช้ภูเขาน้ำแข็งได้เชี่ยวชาญและเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสามัญประจำบ้านที่จะได้หยิบมาใช้บ่อยๆ แน่นอนค่ะ