Parents One

NEWS: พ่อแม่ต้องระวัง! ไวรัส RSV ภัยร้ายในฤดูฝน ส่งผลให้ลูกปอดอักเสบติดเชื้อ

ฤดูฝนเป็นฤดูที่ทำให้คนไม่สบายง่ายที่สุด โดยเฉพาะในเด็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่มากพอ มีไวรัสชนิดหนึ่งที่แฝงมากับฤดูฝนที่พ่อแม่ควรต้องระวังคือ Respiratory Syncytial Virus (RSV-อาร์เอสวี) ที่มีลักษณะอาการคล้ายไข้หวัด แต่ส่งผลรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อ ซึ่งไวรัสชนิดนี้ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน

แพทย์หญิงนงนภัส เก้าเอี้ยน แพทย์ด้านโรคระบบทางเดินหายใจเด็ก โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจอักเสบพบในเด็กอายุน้อยตั้งแต่ วัยทารก จนถึงช่วงวัยเข้าอนุบาล รวมไปถึงในผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กๆ จะติดเชื้อไวรัส RSV ในช่วงฤดูฝนกันมาก โดยติดผ่านการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จากการสัมผัส หรือละอองน้ำมูกของผู้ป่วยคนอื่น

สำหรับอาการเมื่อติดเชื้อไวรัส ในแรกเริ่มจะมีอาการเหมือนไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก แต่สิ่งที่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาคือ จะมีอาการไอมาก ไอถี่ มีเสมหะเยอะและเหนียวข้น หายใจหอบเหนื่อย หายใจแรง หน้าอกบุ๋ม อาจมีเสียงหายใจดังวี้ดๆ ไม่รับประทานอาหาร ไม่ดื่มน้ำ ไม่ดื่มนม มีไข้สูง มักจะซึม หรือหงุดหงิด กระสับกระส่าย เป็นต้น

ไวรัส RVS มีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน ส่งผลให้อาจเกิดปอดอักเสบติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีอาการปอดบวม ไอ หอบได้ง่าย เด็กจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย บางครั้งเป็นมาก จะหายใจดัง “วี้ด” เด็กบางคนอาจเป็นหอบหืดได้ในอนาคต

ในปัจจุบันยังไม่มียารักษา RSV โดยเฉพาะ การรักษาอาการติดเชื้อไวรัส RSV จึงต้องรักษาไปตามอาการที่ป่วย คือ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ในเด็กเล็กหรือเด็กที่มีอาการหนักอาจต้องนอนโรงพยาบาลให้น้ำเกลือ

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เป็น RSV แล้ว สามารถเป็นซ้ำได้หลายครั้ง แต่อาการนั้นก็จะน้อยลง และเนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ทำให้เด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสได้ง่ายในช่วงที่แพร่ระบาดมาก โดยเฉพาะสถานที่ที่เด็กอยู่กันมากๆ เช่น โรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก

ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกน้อยไม่ป่วยจากโรคนี้ คือ การมีร่างกายที่แข็งแรงและรู้จักวิธีหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ด้วยวิธีการล้างมือบ่อยๆ หลังจากทำกิจกรรม หรือก่อนกินอาหาร ส่วนโรงเรียนและพ่อแม่ก็ควรป้องกันโดยการหมั่นทำความสะอาดของเล่นอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงคัดแยกเด็กที่ไม่สบายด้วย

อ้างอิงจาก