แม้ว่าลูกจะทำอะไรได้ตัวเองได้แล้ว แต่อยู่ดีๆ พฤติกรรมของลูกกลับเปลี่ยนไป จากที่เคยช่วยเหลือตัวเองได้กลายเป็นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นั่นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมถดถอยในเด็ก (Regressive) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะคะ เพราะพฤติกรรมนี้สามารถปรับแก้ได้โดยขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ล้วนๆ เลย วันนี้เราไปทำความเข้าใจพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้ให้มากขึ้นกันเถอะค่ะ
พฤติกรรมถดถอยคืออะไร
พฤติกรรมถดถอยของเด็ก (Regressive) คือ การที่เด็กแสดงพฤติกรรมที่เด็กลงไปกว่าวัย จากที่เคยช่วยเหลือตัวเองได้กลายเป็นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ลักษณะอาการเหล่านี้มีหลายรูปแบบซึ่งจะแตกต่างกันไปตามพื้นฐานของเด็กแต่ละคน เป็นกลไกที่เกิดขึ้นหลายครั้งโดยที่ลูกไม่ได้ตั้งใจและไม่รู้ตัว เพราะเกิดความคับข้องใจและอยากจะสื่อสาร แต่ยังสื่อสารไม่เก่ง เลยปรับตัวเป็นถดถอย เพราะเห็นว่าพอทำแล้วทำให้ได้รับการเอาใจใส่และเป็นที่สนใจมากขึ้น
ลักษณะอาการของพฤติกรรมถดถอย
มักจะทำสิ่งที่ทำเป็นแล้วไม่ได้
- ไม่ยอมกินข้าวเอง
- อึหรือฉี่โดยไม่บอก
- ดูดนิ้ว
- ติดพ่อแม่มากขึ้น
- หงุดหงิดงอแง
- ขว้างปาสิ่งของ
- ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล
สาเหตุของพฤติกรรมถดถอย
สาเหตุหลักๆ มีอยู่ 3 อย่างคือ
ความเจ็บป่วยทางกาย
เมื่อลูกรู้สึกไม่สบาย ร่างกายอ่อนแอก็จะส่งผลถึงสภาพจิตใจ สิ่งที่เคยทำได้ดีก็จะไม่ทำเพราะรู้สึกไม่มั่นใจ จึงอยากให้พ่อแม่มาดูแล ทำโน่นทำนี่ให้ เพราะอยากได้รับการเอาใจใส่มากกว่าปกติ
ปัญหาด้านจิตใจ
ส่วนใหญ่จะเกิดกับพี่ที่กำลังมีน้องคนใหม่ ลูกจะแสดงอาการให้เห็นว่าเขายังมีตัวตนอยู่ในบ้านหลังนี้ อย่าสนใจแต่น้องมากเกินไป เลยแสดงอาการเหมือนเด็กเพื่อให้พ่อแม่สนใจ เพราะเขากำลังขาดความมั่นใจและกลัวว่าพ่อแม่จะไม่รักเหมือนเดิม
เกิดจากโรคบางชนิด
เช่น Rett Syndrome โดยจะเห็นว่าลูกมีพัฒนาการปกติในช่วงขวบแรกจากนั้นจะเริ่มพบความถดถอยทางภาษา การใช้มือและการเคลื่อนไหว เช่น จากที่พูดได้ก็กลายมาพูดไม่ได้ มือที่เคยหยิบของได้ก็หยิบไม่ได้ ชอบสะบัดมือโบกไปมาอย่างไร้จุดหมาย
สิ่งที่ควรทำเมื่อลูกมีอาการถดถอย
ในเวลาที่ลูกถดถอยพ่อแม่หลายคนมักจะหงุดหงิด โกรธ ตำหนิ ลงโทษและแสดงความผิดหวังที่ลูกทำตัวแบบนี้ ซึ่งนั่นนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังทำให้ลูกรู้สึกเครียดและบั่นทอนกำลังใจของลูกอีกด้วย
- หาสาเหตุให้ได้ว่าลูกรู้สึกเครียดเพราะอะไร เพื่อที่จะได้แก้ไขได้ตรงจุด
- อย่าให้ความสนใจหรือตำหนิพฤติกรรมของลูก ใช้การอธิบายให้เขาเข้าใจ และทำตัวเป็นปกติกับเขา เพราะการให้ความสนใจหรือโอ๋มากไปจะทำให้ลูกได้รับความสนใจแบบที่ลูกอยากได้ และแสดงพฤติกรรมนั้นเพิ่มขึ้น
- ให้เวลาและใส่ใจลูกให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูก
- ให้คำชมและกำลังใจเมื่อลูกสามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
- ลดความลำเอียงและความเหลื่อมล้ำ อย่าบังคับให้พี่ยอมน้อง เพียงเพราะเป็นพี่ และไม่ควรเปรียบเทียบลูกเด็ดขาด เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
- พูดกับลูกบ่อยๆ ว่า “ไม่เป็นไรนะ แม่เข้าใจ” “เดี๋ยวมันจะดีขึ้น” “ลูกจะผ่านมันไปได้”
ข้อมูลอ้างอิง