ธาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดจางที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูก พบมากในประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการป้องกันความพิการแต่กำเนิด ที่กำหนดให้สตรีตั้งครรภ์ทุกคนได้รับการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย เพื่อควบคุมและป้องกันการเกิดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงของทารกในครรภ์ รวมถึงรณรงค์ให้สตรีที่จะตั้งครรภ์ได้รับสารโฟเลต 6 สัปดาห์ก่อนการตั้งครรภ์
ข้อมูลจากทั่วโลกพบทารกที่มีความพิการแต่กำเนิดกว่า 80,000,000 คน โดยในประเทศไทยพบทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิดประมาณ 24,000 – 40,000 คนต่อปี สำหรับโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย พบทารกแรกเกิดเป็นโรคดังกล่าวปีละประมาณ 12,125 ราย
โรคนี้ที่เกิดจากการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงลดน้อยลงเม็ดเลือดแดงจึงมีลักษณะผิดปกติและแตกง่าย ก่อให้เกิดอาการซีด เลือดจางเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ในส่วนของแนวทางการรักษาสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และเด็กที่ป่วยเป็นธาลัสซีเมียคือ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ผาดโผน รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและโฟเลตสูง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงมาก
นอกจากนี้พบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงและสามีเป็นพาหะด้วย จะทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติและเสียชีวิตภายในครรภ์หรือตายหลังคลอด และคุณแม่ที่มีทารกผิดปกติอยู่ในครรภ์ก็อาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยจะมีอาการบวมและความดันโลหิตสูง
สำหรับรายที่มีอาการมาก ทารกจะมีอาการซีดเหลืองภายในขวบปีแรก หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะทำให้ตัวเล็กไม่สมอายุ หน้าตาผิดรูป หน้าผากใหญ่ โหนกแก้มสูง จมูกบาน และ ท้องโต เพราะตับม้ามโต เด็กกลุ่มนี้จะป่วยบ่อยเพราะติดเชื้อง่าย บางรายเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก
ดังนั้นเพื่อเป็นการดความเสี่ยงในการเกิดธาลัสซีเมียในเด็ก พ่อแม่ก็ควรจะต้องวางแผนก่อนมีลูก และตรวจเลือดหาความผิดปกติ เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำในการวางแผนครอบครัวที่เหมาะสม
อ้างอิงจาก