รู้หรือไม่ ขณะที่เอร็ดอร่อยกับมื้ออาหาร เราอาจกำลังทำร้ายโลกโดยไม่รู้ตัว
จากพฤติกรรมกินทิ้งกินขว้าง กักตุนอาหารเกินความจำเป็นของแต่ละครัวเรือน รวมถึงปัญหาการบริหารจัดการวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตอาหารของภัตตาคาร ร้านอาหาร รวมถึงโรงงาน ทุกวันนี้จึงมีปริมาณอาหารถึง 1 ใน 3 ของโลกที่ถูกทิ้งเป็นขยะ คิดเป็น 1,300 ล้านตันต่อปี! และยังถือเป็นต้นต่อสำคัญซึ่งทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหา Food Waste หรือขยะอาหาร จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรใส่ใจ และร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขโดยเร่งด่วน
แต่กับบ้านที่มีเจ้าตัวน้อยวัยกำลังกิน ทดลองสำรวจไปเสียทุกอย่าง มีความชื่นชอบที่เปลี่ยนไปทุกวี่ทุกวัน ดูเหมือนว่าการลดขยะอาหารจะเป็นไปได้ยากเหลือเกิน ครั้นจะดึงดันต่อว่า หรือทำโทษ ก็มีแต่จะส่งผลเสีย สร้างความรู้สึกไม่ดี สร้างบรรยากาศอึมครึมบนโต๊ะอาหาร แถมลูกอาจจะมีพฤติกรรมเลือกกินตามมา
วันนี้ Parents One ขอแนะนำวิธีลดขยะอาหารในบ้าน ฉบับครอบครัวสุขสันต์ พ่อแม่ยิ้มได้ คุณลูกร่าเริง รับรองว่านอกจากจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือผู้คนที่ขาดแคลน และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในบ้านได้อีกด้วย ดีต่อเราดีต่อโลกขนาดนี้ รอช้าไม่ได้แล้ว ไปดูกันเลยค่ะ !
- เข้าใจตัวย่อบนฉลากอาหาร :
วัตถุดิบแต่ชนิดมีช่วงอายุที่แตกต่างกันออกไป สังเกตได้จากวันที่ระบุบนฉลาก แต่บางครั้งความสับสนระหว่างตัวย่อก็ทำให้เราทิ้งวัตถุดิบหลายอย่างไปอย่างน่าเสียดาย
- MFG / MFD (Manufacturing date / Manufactured Date) คือ วันที่ผลิต
- EXP / EXD (Expiry date) คือ วันหมดอายุ —— “หากเลยวันที่ระบุ อาหารอาจเน่าเสียหรือบูด ไม่ควรรับประทาน”
- BB / BBE (Best before / Best before end) คือ ควรบริโภคก่อนวันที่ระบุ —— “หากเลยวันที่ระบุแล้ว ยังสามารถรับประทานได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่คุณภาพของอาหารอาจลดลง”
นอกจากจะสังเกตวันที่ระบุบนฉลากอาหารแล้ว อย่าลืมสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่ามีรูปทรงผิดแปลกไปจากเดิม มีรอยบุบ รอยรั่ว หรือสนิมหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อให้ยังไม่ถึงวันหมดอายุก็ไม่ควรรับประทาน
- วางแผนจ่ายตลาด :
ก่อนจะออกไปซื้อของเข้าบ้าน ขอเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่หยิบกระดาษปากกา หรือเปิดโน้ตในโทรศัพท์มือถือ นั่งวางแผนการจับจ่ายใช้สอยเสียก่อน
นับจำนวนสมาชิกในบ้าน ลองสำรวจสิ่งของที่มีอยู่แล้วในตู้เย็น และกำหนดเมนูอาหารในแต่ละสัปดาห์ เขียนมาเป็นรายการว่าควรจะต้องซื้ออะไรเพิ่มมากน้อยเท่าไร การทำรายการซื้อของไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้ตัดใจจากสิ่งของที่ไม่จำเป็น และโปรโมชันล่อตาล่อใจในห้างสรรพสินค้าได้ง่ายขึ้น
- จัดเก็บอาหารให้ถูกวิธี :
อีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะช่วยยืดอายุวัตถุดิบออกไปให้นานยิ่งขึ้น คือการจัดเก็บอาหารอย่างถูกวิธี พยายามจัดให้สามารถมองเห็นทุกอย่างชัดเจน สามารถหยิบใช้ได้สะดวก ไม่หลงไม่ลืมอะไรไป และถ้าเป็นไปได้ควรเขียนวันที่ซื้อมาติดเอาไว้เพื่อช่วยให้เลือกใช้วัตถุดิบต่างๆ ได้ทันเวลา
- เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ควรเก็บในภาชนะสะอาดแล้วนำเข้าช่องแช่แข็ง สามารถ
- นม โยเกิร์ต ควรเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นจัดคงที่ เช่น ชั้นวางด้านล่างที่มีอุณหภูมิเย็นสุดรองจากช่องแช่แข็ง เพราะเป็นอาหารที่เสียง่าย
- ไข่ เครื่องปรุง ไม่ต้องการความเย็นมาก สามารถเก็บไว้ที่ชั้นวางบริเวณบานประตูได้ บริเวณนี้เหมาะสำหรับเก็บอาหารที่ไม่เน่าบูด เพราะมีอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อยจากการปิดเปิดตู้เย็น
- ผัก ผลไม้ ควรใส่ภาชนะหรือถุงใส แล้วเก็บในช่องแช่ผักเพื่อรักษาความสด
- ถั่ว ธัญพืช และอาหารแห้ง ควรเก็บในภาชนะสะอาด ไม่อับชื้น
- ทำอาหารในปริมาณพอเหมาะ :
จัดปริมาณอาหารพอดีกับความต้องการของแต่ละคนในบ้าน ส่วนมากเด็กๆ มักจะกินน้อยกว่าที่เราคาดไว้อยู่แล้ว จานอาหารของเด็กๆ อาจจะเริ่มจากตักอาหารในปริมาณที่น้อยก่อน แล้วค่อยเติมเมื่อลูกต้องการ เพราะเมื่อตักอาหารใส่จานทั้งหมดในปริมาณที่มากเกินไป ย่อมเสี่ยงต่อเหลือทิ้งเป็นขยะ แต่หากแยกส่วนสำหรับเติมไว้ ก็ยังสามารถเก็บไว้เพื่อมื้อต่อๆ ไปได้
สำหรับเด็กเล็กที่เริ่มหัดกิน Finger Food ควรเริ่มจากอาหาร 2-3 ชิ้น ป้องกันการขว้างปาอาหารลงพื้นทั้งหมด
- คิดเมนูใหม่ๆ จากของเหลือในบ้าน :
สร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ จากวัตถุดิบเหลือในตู้เย็น อย่างผัก ผลไม้ก็สามารถนำไปดัดแปลงได้ทั้งในรูปแบบอาหารคาว และอาหารหวาน เช่น การนำแครอทไปทำซุปผักรวม นำแอปเปิล กล้วยทำสมูทตี้ผลไม้ หรือนำขนมปังใกล้หมดอายุมาทำเมนูของว่างอย่างขนมปังกรอบโรยน้ำตาล และอีกหลากหลายเมนูแสนอร่อย ทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน นอกจากจะช่วยกำจัดขยะอาหาร ยังเปลี่ยนวัตถุดิบบางอย่างที่เด็กๆ เคยเบือนหน้าหนีให้กลายเป็นเมนูโปรดรับประทานง่าย และมีประโยชน์
- ใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่า :
วัตถุดิบบางอย่างสามารถใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายส่วน เราควรมีการวางแผนจัดการวัตถุดิบให้คุ้มค่า เหลือทิ้งเป็นขยะน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ปลา 1 ตัว หลังนำเนื้อไปประกอบอาหารแล้วก็สามารถนำส่วนหัวไปต้มเป็นน้ำซุป เช่นเดียวกันกับเนื้อหมูหรือเนื้อวัวที่สามารถนำไปเคี่ยวทำซุปอร่อยกลมกล่อมได้เหมือนกัน
- นำเศษอาหารไปใช้ประโยชน์ :
นำเศษอาหารส่วนที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้วไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น การทำปุ๋ยหมัก การนำเปลือกถั่วหรือเปลือกไข่โรยในกระถางต้นไม้เพื่อเพิ่มสารอาหารในดิน
- สอนเจ้าตัวน้อยรู้จักคุณค่าของอาหาร :
วิธีนี้เป็นวิธีที่จะสามารถแก้ไขปัญหาขยะอาหารได้อย่างยั่งยืนที่สุด คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกเรียนรู้คุณค่าของอาหารผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่นการปลูกผักในบ้าน ทำอาหารด้วยกัน พาลูกไปจ่ายตลาด ชวนพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่มาของอาหาร เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก