พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หนังสือนิทานเป็นเครื่องมือที่ดีมากในการเปิดจินตนาการอันไม่รู้จบให้กับเจ้าตัวเล็ก ช่วยเพิ่มคลังศัพท์และเปิดโลกแห่งภาษา ช่วยให้ลูกพัฒนาการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว
โดยเราสามารถเริ่มอ่านได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ของแม่ เพื่อให้กระตุ้นการได้ยินและให้ลูกเกิดความคุ้นเคยกับเสียงของพ่อแม่ อีกทั้งยังเป็นตัวเชื่อมพ่อแม่กับลูกไว้ด้วยกัน
ดังนั้นพ่อแม่จึงเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการเสริมสร้างเชาว์ปัญญาของเด็กตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการวางรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ
หนังสือนิทานจึงเป็นสื่อพัฒนาทักษะการฟัง การพูด ให้ความรู้ ความสนุกสนาน และจินตนาการแก่เด็ก อีกทั้งฝึกสมาธิให้เด็กจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง เตรียมความพร้อมด้านการอ่านหนังสือ และปลูกฝังคุณธรรม รวมทั้งนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กไปพร้อมกัน
ซึ่งการอ่านนิทานไม่เหมือนการให้ลูกดูทีวีหรือสมาร์ทโฟน เพราะภาพในหนังสือนิทานจะหยุดนิ่ง มีเวลาให้ลูกเก็บรายละเอียด พ่อแม่และลูกสามารถกำหนดจังหวะการพลิกหนังสือให้สอดคล้องตามการรับรู้ของลูกได้ รวมถึงลูกอาจมีการถามความหมายของสิ่งต่างๆ หรือขอให้พ่อแม่ เล่าบางส่วนซ้ำ เป็นการสื่อสารสองทางระหว่างกัน
ที่สำคัญนิทานไม่ว่าจะดีแค่ไหนจะไม่เกิดประโยชน์เลยถ้าไม่มีคนอ่านให้เด็กฟัง
อ้างอิงจาก