การกระชากแขนลูกแรงๆ เพื่อจูงให้เดินไปในทางที่เราต้องการหรือดึงให้ลูกลุกขึ้น รวมไปถึงการเล่นแกว่งลูกเหวี่ยงหมุนแบบชิงช้า อาจทำให้ลูกเจ็บตัวแบบที่พ่อแม่อย่างเราไม่ทันคาดคิดก็ได้นะคะ เพราะกระดูกข้อศอกของลูกอาจเคลื่อนได้ วันนี้เรามารู้จักอุบัติเหตุนี้ให้มากขึ้นกันเถอะค่ะ
กระดูกข้อศอกเคลื่อน (Pulled Elbow) พบได้บ่อยในเด็กเล็กกว่า 5 ขวบ เกิดจากการที่กระชากแขนเด็กอย่างรุนแรง ในท่าที่เด็กเหยียดศอกและควํ่ามืออยู่ ทำให้กระดูก radius (กระดูกแขนท่อนล่างของเรามีกระดูกอยู่ 2 ชิ้น คือกระดูก radius และ ulnar) หลุดออกจากเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกไว้บริเวณข้อศอก เพราะสรีระของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อศอกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ง่ายต่อการเคลื่อนหลุดถ้าขยับผิดจังหวะ
สาเหตุ
- ดึงหรือยกเด็กขึ้นมาจากพื้นอย่างแรงโดยใช้แขนข้างเดียว
- เล่นอุ้มเด็กเหวี่ยงแบบชิงช้า
อาการ
- ลูกร้องไห้จ้าทันทีหลังถูกดึงแขน
- ลูกจะงอศอกอยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมขยับแขน
- ข้อศอกอยู่ในท่างอเล็กน้อย หุบเข้าหาลำตัว ยังขยับหัวไหล่ได้แต่ไม่ขยับข้อศอก
- ถ้าอาการไม่มากลูกอาจขยับแขนได้เป็นปกติ แต่ก็ควรพาไปตรวจอาการอีกรอบหนึ่ง
วิธีดูแลเบื้องต้น
- ดูแลส่วนที่เจ็บให้อยู่นิ่งมากที่สุดแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
- ระหว่างทางไปหาหมอให้ประคบเย็น
- อย่าพยายามขยับข้อศอกให้เข้าที่ด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เส้นเอ็น เส้นเลือดบริเวณนั้นบาดเจ็บมากขึ้น
วิธีป้องกัน
- อุ้มลูกโดยช้อนใต้รักแร้หรือจับแขนท่อนบน
- ห้ามดึงลูกตรงแขนท่อนล่าง
- ไม่เล่นเหวี่ยงแบบชิงช้า
- อย่ายกตัวเด็กโดยจับที่ข้อมือ แบบที่พ่อจับข้อมือขวา แม่จับข้อมือซ้ายแล้วยกเด็กลอย
ข้อมูลอ้างอิง