ช่วงนี้อยู่ในช่วงหน้าฝน ฝนกำลังตกชุกเชียวค่ะ ซึ่งก็อาจจะมีลัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีพิษ รวมไปถึงแมลงพาหะนำโรคมาแวะเวียนที่บ้านเราก็ได้ ดังนั้นจึงควรทำความสะอาดบ้านและจัดสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้ปลอดภัยนะคะ
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนควรจัดสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและบริเวณบ้านให้สะอาดและไม่รก เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษและสัตว์นำโรค โดยเฉพาะงู โดยการปิดช่องทางเข้าออกของงูและหนู (ซึ่งเป็นอาหารของงู) ตรวจสอบระบบท่อไม่ให้มีรูรั่วหรือรอยแตก
นอกจากนี้ให้ระวังแมลงก้นกระดก ลักษณะของมันลำตัวจะเป็นปล้องๆ มีสีดำสลับสีแดงหรือสีแดงอมส้ม เมื่อสัมผัสกับตัวแมลง มันจะปล่อยของเหลวออกมาทำให้ปวดแสบปวดร้อน มีอาการคัน ผิวไหม้ ผื่นแดง และเป็นตุ่มน้ำ วิธีป้องกันอันตรายจากแมลงก้นกระดกคือ ห้ามใช้มือตีเด็ดขาด! ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงออกไป แม้ว่าแมลงนั้นจะตายแล้วก็ตาม ติดมุ้งลวดและกางมุงนอน หากถูกพิษให้จุ่มหรือแช่บริเวณนั้นในน้ำเย็น 5-10 นาที สลับกับการเป่าให้แห้งหากมีอาการอักเสบร้ายแรง รีบพบแพทย์ทันที
สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กอีกชนิดที่ควรระวัง คือ กิ้งกือ บางชนิดสามารถปล่อยสารพิษจากลำตัว หากสัมผัสจะทำให้ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน วิธีรักษาคือ ให้ล้างผิวด้วยน้ำมากๆ และทายาฆ่าเชื้อโรค หากสารพิษเข้าตา จะทำให้ตาอักเสบ น้ำตาไหลมาก ให้ล้างด้วยน้ำอุ่นและหยอดยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ดังนั้น การป้องกันกิ้งกือเข้าบ้าน ต้องปรับสภาพแวดล้อมบริเวณบ้าน ด้วยการกำจัดกองใบไม้ เล็มหญ้าให้สั้น ให้แดดส่องถึงพื้น และอุดรอยร้าว
ในส่วนของแมลงพาหะนำโรคที่ต้องระวัง คือ แมลงวันและแมลงสาบ โดยต้องทำความสะอาดบ้าน เก็บกวาดเศษอาหารและขยะให้เรียบร้อย แมลงอีกชนิดหนึ่งคือยุงร้าย พาหะนำโรคไข้เลือดออกซึ่งช่วงนี้กำลังระบาด ดังนั้นจึงต้องต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เก็บขยะและคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง ปิดโอ่งน้ำ ถังน้ำ ให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำในแจกัน กระถาง ทุกสัปดาห์ หลีกเลี่ยงการโดนยุงกัด ด้วยการติดตาข่ายหรือมุ้งลวด กางมุ้งนอน หรือทายากันยุง เป็นต้น
หากโดนสัตว์มีพิษสัมผัสกับร่างกายต้องให้รีบหายารักษา หรือถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที สำหรับเด็กเล็ก ควรดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้เด็กเล็กสัมผัสกับสัตว์ที่มีพิษหรือพาหะนำโรค และหมั่นสังเกตภายในบ้านไม่มีให้สัตว์เข้ามาได้ เพื่อความปลอดภัยของคนในบ้าน
อ้างอิงจาก