จากสถิติในปี 2559 มีเด็กหายจำนวนมากถึง 264 คน มีทั้งเพศชายและหญิงในช่วงอายุระหว่าง 8-17 ปี โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ แนวโน้มของเด็กที่สูญหายในช่วงอายุระหว่าง 11-17 ปี มีสาเหตุมาจากการชอบเล่นเกมอินเทอร์เน็ต การแชตออนไลน์หาคู่ รวมถึงการอยู่ในสภาวะที่ครอบครัวมีปัญหา ขาดการดูแลเอาใจใส่ จึงทำให้ถูกชักจูงและพาตนเองเข้าไปในสถานการณ์เสี่ยงได้ง่าย เนื่องจากเด็กและเยาวชนขาดการส่งเสริมในทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ส่งผลให้ขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์และขาดทักษะการใช้ชีวิตอยู่รอดในสังคม
จากปัญหาดังกล่าวนายพิรุณ น้อยอิ่มใจ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้จัดการโครงการ ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย จึงได้สร้าง “เกมการ์ดพลังป้องกันเด็ก (Child Protection Cards Game)” ซึ่งคว้ารางวัลจากเวที Social Impact Award 2017 และพร้อมที่จะให้องค์กรต่างๆ ได้นำไปใช้ในช่วงต้นปี 2561
สำหรับวิธีการเล่นของการ์ดเกมนี้คือ จะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งสวมบทบาทเป็นมิจฉาชีพและเด็กที่กำลังถูกล่อลวง โดยแต่ละฝ่ายจะมีการ์ดข้อความต่างๆ ถ้าเป็นข้อความจากฝ่ายมิจฉาชีพจะเป็น ‘กินขนมกัน’, ‘ไปเที่ยวหาดกับพี่ไหม’ และ ‘เล่นเกมที่ร้านกัน พี่เลี้ยงเอง’ ฯลฯ ส่วนข้อความตอบโต้จากเด็กจะเป็น ‘ต้องขอพ่อกับแม่ก่อนนะคะ’, ‘ให้คนรู้จักไปด้วยนะ’ และ ‘ห้ามแตะตัวหนูนะ’ เป็นต้น ซึ่งการ์ดทั้ง 2 ชุดแต่ละใบจะมีแต้มไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและโอกาสรอด โดยผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องประเมินสถานการณ์และคาดเดาความสามารถของการ์ดที่อยู่ในมืออีกฝ่ายเพื่อเอาชนะให้ได้
เหตุที่ออกแบบการ์ดเกมให้เป็นรูปแบบนี้เพราะว่า จากการศึกษาพบว่าหากเด็กผ่านประสบการณ์นั้นๆ ได้ด้วยตนเอง เด็กจะเรียนรู้และจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดี การ์ดเกมนี้จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้จากความสนุกและจดจำสิ่งที่เรียนรู้ผ่านการสวมบทบาทในเหตุการณ์สมมติ โดยช่วยให้เด็กจดจำรูปแบบและวิธีการที่มิจฉาชีพใช้ในการเข้าถึง และเลือกชุดถ้อยคำที่เหมาะสมในการพยายามเอาตัวรอดอย่างปลอดภัย ทำให้ได้ฝึกและพัฒนาทักษะการคิดและตัดสินใจ รวมไปถึงการเอาตัวรอดในสถานการณ์จริง
หากองค์กรหรือหน่วยงานใดสนใจสามารถติดตามรายละเอียดและสอบถามข้อมูลได้ที่ มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย เว็บไซต์ http://hhnft.org/ และโทร. 038-488956
อ้างอิงจาก