Parents One

โตไป…ทำไรดีนะ มารู้จักอาชีพ Programmer กันเถอะ!!

การบังคับให้ลูกทำอาชีพในสิ่งที่เขาไม่ได้ชอบจริงๆ แบบนี้ก็คงไม่ดีเท่าไหร่ใช่มั้ยคะคุณพ่อคุณแม่? จะดีกว่าไหมถ้าลูกได้ทำในอาชีพที่เขาได้เลือกด้วยตัวเอง และพ่อแม่ก็สนับสนุนในสิ่งที่เขาเลือก?

“โตไป…ทำไรดีนะ” เป็นรายการย่อยที่พวกเรา Parents One ตั้งใจทำขึ้นมา สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจอาชีพทางเลือกใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้ลูกอยากเป็นในอนาคต โดยเน้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันได้มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก บางอาชีพพ่อแม่อย่างเราก็ไม่เคยได้ยิน แต่ดันมีอยู่จริงนั่นเองค่ะ

หากในอนาคตลูกเราเติบโตมาในอาชีพแบบที่เราอยากให้เป็นก็ถือเป็นความโชคดีไปค่ะ แต่ถ้าไม่เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ ก็อย่าไปบังคับกำหนดเส้นทางชีวิตของลูกมากเกินไป หรือปิดกั้นไม่ให้ลูกทำในอาชีพที่ตัวเองชอบ ให้ถือว่าพ่อแม่มีหน้าที่เเค่ชี้เส้นทางนั้นเฉยๆ แต่ไม่ได้มีสิทธิ์ไปบังคับให้ลูกทำ หรือไม่ทำอะไรก็แล้วแต่ค่ะ เพราะชีวิตลูก…เราต้องให้ลูกเลือกเส้นทางของตัวเขาเองนะคะ

สำหรับวันนี้เราขอแนะนำอาชีพที่เริ่มจากศูนย์ ไปจนถึงสามารถสร้างสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและทันสมัย ช่วยให้พวกเราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น นั่นก็คืออาชีพ Programmer นั่นเองค่ะ โดยเราได้เชิญ “คุณเอ็ม ขจร เจียรนัยพานิชย์” หรือใครๆ ต่างเรียกเขาว่า @khajochi ผู้ที่เคยทำอาชีพโปรเเกรมเมอร์มาอย่างชำนาญ ซึ่งในปัจจุบันได้ผันตัวเองมาเป็นบล็อกเกอร์ด้านไอทีและ Life Style เราไปลองฟังมุมมอง ทัศนคติ รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่าค่ะ ว่าจะมีเสน่ห์อะไรที่น่าสนใจให้ร่วมค้นหาบ้าง? ไปชมกันเลย

แนะนำตัวให้ Parents One รู้จักหน่อยค่ะ?

สวัสดีครับ ผม@ khajochi  ชื่อจริงชื่อ ขจร เจียรนัยพานิชย์นะครับ เคยทำอาชีพโปรแกรมเมอร์มา 10 ปีครับ เป็นอาชีพที่มาแรงเนอะในยุคนี้ และก็เด็กๆ หลายคนก็ให้ความสนใจ รวมถึงพ่อแม่ก็อยากให้ลูกลองได้ทำอาชีพนี้ด้วยครับ

Programmer ทำงานอะไรบ้าง?

โปรแกรมเมอร์ คือ อาชีพที่สร้างจากศูนย์ไปเป็นสิ่งของที่ใช้ได้จริงครับ ซึ่งเราจะเริ่มจากการเขียนโปรแกรมที่ไม่มีอะไรเลย มีแค่ความต้องการ อยากให้หุ่นยนต์ตัวนี้วิ่งได้ อยากให้มีเว็บไซต์ 1  เว็บ อยากให้มีแอปพลิเคชัน 1 อัน มันก็จะมีความต้องการมาก่อน แล้วเอาสิ่งนี้มาแปรงร่างเป็นโปรแกรม

ทำไมถึงเลือกทำอาชีพ Programmer?

สำหรับยุคนี้ อาชีพโปรแกรมเมอร์เป็นอาชีพที่หลายคนให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ญี่ปุ่น หรือว่าสิงคโปร์ ออกมาบอกเลยว่าเป็นอาชีพที่พยายามจะผลักดัน เพราะตอนนี้ใครๆ ก็ทำเป็นยุคไอที สินค้าหลายๆ อย่างต้องใช้ไอทีเข้ามาด้วย สมัยนี้แค่เรียกแท็กซี่ ก็ต้องมีเรื่องของเรียกผ่านแอปผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือว่าอนาคตก็จะมีเรื่องของ Ai  , Machine Learning

ทักษะการเขียนโปรแกรม หรือการเขียนโค้ด จึงเป็นทักษะที่เด็กรุ่นใหม่ควรจะต้องมี อย่างกระทรวงศึกษาธิการไทยของเรา ก็ได้มีการบรรจุวิชาการเขียนโปรแกรมเข้ามาตั้งแต่ชั้นประถม เพราะงั้นต่อไปเราจะเห็นอาชีพนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะนิสัยของคนที่ทำอาชีพ Programmer?

สำหรับคนที่อยากทำอาชีพโปรแกรมเมอร์ อย่างแรกเลย คือ ต้องเป็นคนที่สามารถจัดลำดับความสำคัญก่อน – หลังได้ดี มีหลักการที่เป็นเหตุเป็นผลที่ดีมาก แยกแยะความสำคัญก่อนหน้า

อาชีพโปรเเกรมเมอร์เป็นอาชีพที่อาจจะต้องมีจินตนาการค่อนข้างสูง สมมติเราเขียนโปรแกรมขึ้นมา มันจะมีทางเลือกอยู่แบบเป็นร้อยๆ ทางเลย แล้วเราเจอปัญหาปุ๊บ เราจะแก้จุดที่ 50 มันอาจจะส่งผลต่อจุดที่ 86 หรือว่าจุดที่ 86 จะส่งผลจุดที่ 149 เพราะงั้นต้องมีลำดับความคิดมีเหตุมีผล แล้วก็ต้องเป็นคนที่มีสมาธิค่อนข้างสูง อยู่กับคอมพิวเตอร์ค่อนข้างนาน เป็นอาชีพที่ต้องใช้งานคอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา

อยากให้ลูกเป็น Programmer ต้องเสริมทักษะใด?

สำหรับเด็ก ๆ ที่สนใจ อยากจะทำอาชีพโปรแกรมเมอร์ ทักษะแรกที่ควรจะมี คือ มีความสามรถในวิชาคณิตศาสตร์ และก็ฟิสิกส์ ซึ่งจะสอนให้เราเป็นคนมีหลักการ มีเหตุมีผล ฟิสิกส์ก็จะเป็นเรื่องของเเรงโน้มถ่วง การหมุน การโยน เพราะงั้นทุกอย่างจะส่งผลไปถึงการคิดคำนวณ การเขียนโปรแกรม การวางแผน การสร้างระบบนะครับ เพราะงั้นการคิดเป็นระบบจะสำคัญมาก 

มีคิดเป็นเหตุเป็นผล (Logic) ทำงานเป็นทีมเวิร์ค สุดท้ายคือ มีความอดทน เป็นอาชีพที่ต้องอึด ถึก และก็ใช้สมาธิค่อนข้างสูงนะครับ

ต้องเลือกเรียนสาขาอะไร ถ้าอยากเป็น Programmer?

สำหรับสาขาที่เรียนจบมา แล้วสามารถทำอาชีพโปรแกรมเมอร์ได้ โดยหลักก็จะเป็นวิศวะคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ไอที จริงๆ หลายหลักสูตรตอนนี้ก็จะมีวิชาเรื่องเขียนโปรแกรมเข้ามาอยู่แล้ว อย่างเรียนแพทย์ บางสาขา ก็จะมีเขียนโปรแกรมด้วยนะครับ หรือ วิศวะโยธา แม้แต่บัญชีเอง ก็จะมีหลักสูตรที่ต้องเขียนโปรแกรมเหมือนกัน เพราะงั้นอาชีพโปรแกรมเมอร์อาจจะไม่ได้จำกัดว่าต้องเรียนคอมพิวเตอร์นะครับ

ใครที่ไม่เหมาะกับอาชีพ Programmer?

ทักษะที่อาจจะไม่เหมาะมากนัก เช่น ถ้าน้อง ชอบศิลปะ มีความเป็นศิลปินมาก อาจจะไม่ได้ถนัดวิชาคณิตศาสตร์ ไม่ถนัดวิชาวิทยาศาสตร์ ชอบไปทางศิลปะ วาดภาพ หรือว่าชอบไปทางกีฬา อะไรแบบนี้ อาจจะไม่ได้มีความเหมาะกับอาชีพโปรแกรมเมอร์มากนักนะครับ

รวมถึงคนที่ชอบทำงานเดี่ยวๆ เช่นบางอาชีพที่ทำคนเดียว แล้วแบบชอบมาก วาดภาพ ชอบวาดภาพคนเดียว ทำศิลปะที่ทำคนเดียวแล้วเก่งมากๆ เนี่ย บางทีอาจจะทำอาชีพโปรแกรมเมอร์ลำบาก เพราะว่าเป็นอาชีพที่ต้องคุยกับคนค่อนข้างเยอะเลย

วิธีสังเกตว่าลูกเหมาะกับอาชีพ Programmer?

วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าลูกเหมาะกับการทำอาชีพโปรแกรมเมอร์รึเปล่า? ก็ดูการใช้ชีวิต การพูดคุย แล้วก็วิชาที่เขาเรียน ถ้าเขาชอบจัดสิ่งของให้มันเป็นระบบระเบียบ วางก่อน – หลัง จัดการลำดับชอบจัดการอะไรต่างๆ เนี่ย หรือชอบคณิตศาสตร์ ชอบการทำงานที่เป็นระบบนะครับ จะเหมาะกับอาชีพโปรแกรมเมอร์มากเลย

พยายามส่งเสริมเขาในสิ่งที่เขาชอบ ถ้าดูว่า เอ๊ะ เขามาทางนี้เหมาะ อาจจะลองให้เขาเริ่มใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจจะเป็นคอมพิวเตอร์นะครับ ลองให้ใช้ไอโฟน ไอแพด อาจจะไม่ใช่เล่นเกม อาจจะเป็นพวกโปรแกรมสนุกๆ ในการคิดคำนวณ เดี๋ยวนี้มีเกมหรือว่าแอปลิเคชันหลายตัว ให้เด็กฝึกเรื่องการคิดเป็นเหตุเป็นผลนะครับ

จริงๆ การเขียนโปรแกรมสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ อายุ 5 ขวบถึง 10 ขวบเลยนะครับ มีโปรแกรมที่สอนเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็กเลย ก็จะเริ่มง่ายๆ เช่นเอา ให้แมวตัวนี้ลองเดินไป แล้วก็เดินเลี้ยวซ้าย เดินเลี้ยวขวา อะไรแบบนี้ หรือว่าให้รถไฟวิ่งไปด้วยความเร็วเท่านี้ ลองเขียนโปรแกรมสนุกๆ ก็สามารถช่วยเด็กได้เหมือนกัน ต้องพยายามสังเกตดูให้ดีว่า สิ่งที่ลองให้เขาลองทำเนี่ย เขาเบื่อไหม หรือว่าเขาอินกับมันไหม เด็กๆ จะทำได้ดี ถ้าเขารักในสิ่งที่เขาทำนะครับ

ความยากที่สุดของอาชีพ Programmer คืออะไร?

เป็นอาชีพที่ค่อนข้างใหม่ แล้วก็พ่อแม่หลายคน อาจจะไม่เข้าใจนะครับ เป็นอาชีพที่คนรุ่นเรา อาจจะไม่ได้เป็นกันเยอะ เพราะงั้นความเข้าใจของพ่อแม่จะไม่ค่อยเยอะ เทียบกับถ้าเราต้องไปสอนศิลปะ ไปสอนลูกเตะฟุตบอล ว่ายน้ำ หรือว่าไปสอนลูกทำอาชีพอื่นๆ เนี่ย อาจจะง่ายขึ้น เเต่พอต้องสอนลูกเขียนโปรแกรมเนี่ย บางทีพ่อแม่เองก็ไม่เข้าใจนะครับ

เพราะงั้นสิ่งสำคัญที่สุดเลย คือผู้ปกครองเนี่ยต้องพยายามเข้าใจอาชีพนี้ให้เยอะ พยายามศึกษาด้วยตัวเองด้วย อย่าเอาลูกไปเรียนพิเศษอย่างเดียว หรืออย่าเอาลูกไปที่โรงเรียนอย่างเดียว เพราะงั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องเป็นตัวอย่างในการฝึก แล้วก็ลองทำความเข้าใจกับอาชีพนี้ให้มากนะครับ เพื่อที่จะได้สอนลูก แล้วก็ให้ลูกเข้าใจได้ง่ายขึ้น

อาชีพ Programmer สามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพใดได้บ้าง?

อาชีพโปรแกรมเมอร์โดยหลักก็คือ การเขียนโปรแกรมจากสิ่งที่ไม่มีอยู่ให้มันมีอยู่จริง เพราะงั้นพอทำไปนานๆ ก็สามารถไปต่อยอด ไปทำอาชีพอื่นได้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Project Manager ,  คนทดสอบระบบ หรือว่า QA , คนวิเคราะห์ระบบ หรือ system analyst  รวมถึงคนที่ทำ Start Up คนที่ทำ Website นะครับ ก็ต้องใช้ทักษะโปรแกรมเมอร์เช่นกัน

อย่างเจ้าของบริษัทชื่อดังหลายคน ก็มีทักษะโปรแกรมเมอร์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก , แลรี่ เพจ เจ้าของกูเกิล ก็เป็นคนเขียนโปรแกรมมาก่อน หรือแม้แต่สตีฟ จ็อบส์ ที่เคยทำแอปเปิ้ลก็มีทักษะการเขียนโปรแกรมอยู่บ้างเหมือนกัน ถึงจะเขียนไม่ได้เก่งมาก เพราะงั้นอาชีพโปรแกรมเมอร์เนี่ยไม่ได้จบแค่การเป็นโปรแกรมเมอร์อย่างเดียว แต่ว่ายังทำอาชีพอื่นๆ นอกจากนี้ได้อีกด้วยครับ

ขอ 3 คำ ให้กับอาชีพ Programmer?

คิด เป็น ระบบ ก็จะเป็น 3 คำ ที่เหมาะกับอาชีพโปรแกรมเมอร์นะครับ คุณพ่อคุณแม่ลองดูนะครับว่า ลูกของตัวเองเนี่ย จะเหมาะกับอาชีพนี้รึเปล่า แล้วก็ลองศึกษาข้อมูลดูให้มากขึ้นนะครับ

เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับบทสัมภาษณ์ที่บ่งบอกตัวตนของอาชีพ Programmer ซึ่งถูกถ่ายทอดจากผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้ และเข้าใจในตัวตนของ Programmer มากขึ้น หวังว่าจะช่วยเปิดความคิด มุมมอง รวมถึงทัศนคติที่ดีในอาชีพนี้นะคะ ถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจ และดีมากๆ อีกอาชีพนึงเลยค่ะ

ในการเลือกอาชีพของลูก เราต้องให้ลูกเป็นคนตัดสินใจเอง เพราะสุดท้ายแล้วคนที่มีความสุขหรือความทุกข์เมื่อต้องทำงาน นั่นคือตัวลูกของเรานั่นเองค่ะ ถ้าเขาได้ทำงานที่เขารู้สึกว่ามีความสุขคงจะดีไม่ใช่น้อยเลยใช่มั้ยล่ะคะคุณพ่อคุณแม่ เรามีหน้าที่เพียงแค่ชี้แนะแนวทางให้ลูกไม่เดินไปเรื่อยเปื่อย หรือเลือกเดินเส้นทางที่ไม่ดีนั่นเอง โตขึ้นไม่ว่าลูกจะทำชีพอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย และสุจริตก็พอแล้วค่ะสำหรับหัวอกแม่อย่างเรา