สมัยนี้ถือได้ว่าคุณแม่แต่งงานค่อนข้างช้าอยู่แล้ว พลอยทำให้มีลูกช้าเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ยิ่งท้องตอนอายุ 35 ปีแล้วยิ่งอดคิดไม่ได้เลยว่าจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรให้มากกว่าคนอื่นขนาดไหนกันเชียว มาดูกันเป็นข้อๆ เลยนะคะ
ความแข็งแรงน้อยกว่าวัยสาว
เนื่องจากอยู่ในวัย 35 ปีแล้ว ร่างกายจะสู้แรงตอนวัยสาวไม่ได้ จึงทำให้แข็งแรงน้อยกว่าวัยสาวไปด้วย ดังนั้นคุณแม่ควรฟิตร่างกายให้แข็งแรงพร้อมมีลูก เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง, รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วนทุก 5 หมู่, นอนหลับพักผ่อนให้พออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง, ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน, ลดปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเครียด, งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ แล้วคอยตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าพร้อมมีลูกแล้วจริงๆ ค่ะ
ถ้าหากมีภาวะมีบุตรยากอยู่แล้ว
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือ ภาวะที่คู่สมรสไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากพยายามมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน โดยไม่ได้คุมกำเนิดมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี แต่ถ้าหากมีปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลให้มีลูกได้ยาก เช่น คุณแม่มีสุขภาพไม่แข็งแรง มีอายุมากกว่า 35 ปี มีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ มีประวัติเคยผ่าตัดหรือมีการอักเสบในช่องท้องมาก่อน เคยมีอุบัติเหตุหรือมีการติดเชื้อรุนแรงที่อวัยวะเพศมาก่อน ฯลฯ คุณก็สามารถมาพบแพทย์เพื่อขอรับการปรึกษาได้ก่อน 1 ปี
ไข่มีอายุมากแล้ว ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ
บางคนอาจจะมีภาวะรังไข่ผิดปกติ อย่างเช่น ทำงานไม่ได้ตามปกติและสามารถตกไข่ได้, มีความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายที่ส่งผลต่อการตกไข่, ท่อรังไข่อุดตัน, มีเนื้องอกของมดลูกขนาดใหญ่หรืออยู่ในโพรงมดลูก, มีซีสต์หรือเนื้องอกของรังไข่, มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีพังผืดที่เกิดขึ้นในช่องเชิงกรานหรือที่ปีกมดลูก เป็นต้น จะเสริมให้มีภาวะการตั้งครรภ์ยากขึ้นไปอีก สามารถประเมินการตกไข่ที่โรงพยาบาลได้
พันธุกรรมมีแนวโน้มผิดปกติ
เนื่องจากการตั้งครรภ์เมื่ออายุมากอาจมีความเสี่ยงในเรื่องพันธุกรรมที่มีแนวโน้มผิดปกติ คุณแม่จึงควรจะทดสอบด้วย ในการทดสอบทางพันธุกรรมนั้น แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเมื่อสงสัยว่าความผิดปกติของโครโมโซมเป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยาก ซึ่งการตรวจจะใช้เลือดปริมาณเพียงเล็กน้อย ส่งเข้าห้องปฏิบัติการในการวิเคราะห์ ถ้าพบความผิดปกติ แพทย์จะหารือถึงความเป็นไปได้และประเมินผลที่จะตามมาของกรรมพันธุ์ที่จะถูกส่งต่อไปยังลูก
เฝ้าสังเกต เฝ้าระวัง
เพราะอายุที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การสร้างฟองไข่และการเจริญของฟองไข่ผิดปกติได้ อีกทั้งยังมีหลายสิ่งที่ควรระวังและเฝ้าสังเกต ทั้งอาการแพ้ท้อง หน้าท้องที่ขยายขึ้น หน้าท้องแข็งมั้ย ฯลฯ ทั้งนี้ นอกจากจะสังเกตด้วยตัวเองแล้ว ควรรีบฝากครรภ์กับคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการตรวจและการดูแลที่ดี
ถึงแม้ว่าคุณแม่จะอายุ 35 ปีแล้ว ใช่ว่าจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างราบรื่น ขอแค่ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่สม่ำเสมอ และอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งเฝ้าระวังและสังเกตความเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถตั้งครรภ์ คลอดลูก และเลี้ยงลูกให้ดีได้เหมือนคุณแม่ทั่วไปเลยค่ะ ที่สำคัญเวลาฝากครรภ์ถึงแม้อาจจะแอบเขินที่ตัวเองอายุเยอะกว่าคุณแม่ท่านอื่นแล้วก็ตาม ขอให้มั่นใจเข้าไว้ว่ายังไงซะเราก็จะเป็นคุณแม่วัย 30(+5) ยังแจ๋วได้สบายบรื๋อเลยค่ะ ถือว่าวิธีคิดของคุณแม่ถือว่าสำคัญมากไม่แพ้การดูแลตัวเองเลยล่ะค่ะ สู้ๆ นะคะคุณแม่!
ที่มา
- Drama-addict
- th.theasianparent
- medthai
- sanook
- คุณแม่คนเขียน