การที่ลูกของคุณแม่นั้นเริ่มกล้าปฏิเสธและต่อต้านคนรอบตัว ถือเป็นปัญหาโลกแตกของเด็ก 2 ขวบเลยก็ว่าได้ ปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วคุณแม่จะรับมือกับลูกวัยเริ่มกล้าปฏิเสธและต่อต้านได้อย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
สาเหตุของปัญหาเด็ก 2 ขวบ
ความเป็นตัวของตัวเอง
ในวัยนี้ลูกเริ่มมีอิสระเพราะพัฒนาการทางร่างกายก้าวหน้า มีศักยภาพที่จะไปไหนหรือทำอะไรได้มากขึ้น เริ่มมีการก่อร่างของความรู้สึก “ความเป็นตัวของตัวเอง” ทุกสิ่งรอบตัวจะดูแปลกใหม่และน่าสนใจ น่าสนุกไปเสียหมดสำหรับหนู ทำให้มีความกล้าในการทำสิ่งต่างๆ มากยิ่งขึ้นค่ะ
รอไม่เป็น
ด้วยความที่เด็กในวัยนี้ เพิ่งผ่านพ้นวัยทารกที่เวลาต้องการอะไรหนูร้องไห้หน่อยก็ได้ทันใจแล้ว พอโตขึ้นมาอีกนิด ความต้องการด้านอื่นก็มากขึ้นตาม จากที่เคยได้อะไรแล้วมีคนสนองทันใจจึงไม่เคยคุ้นกับการปฏิเสธ อีกทั้งลูกยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกไม่พอใจได้อย่างไร ซึ่งต้องเป็นเรื่องของประสบการณ์ค่ะ
ค้นพบและเรียนรู้สิ่งใหม่
วัยนี้เป็นวัยที่ลูกนั้นอยากทดลองทำอะไรใหม่ๆ ในบางครั้งจึงมีกิริยาที่คุณแม่นึกไม่ถึง หรือพูดคำหยาบคายที่ไม่คิดว่าลูกน้อยจะพูดได้ เพราะวัยนี้กำลังเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้จดจำและนำไปใช้ ซึ่งลูกก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้วมีความหมายอย่างไร รวมไปถึงกิริยาแปลกๆ อื่นๆ ที่เลียนแบบมาจากคนอื่นด้วยค่ะ
พูดจาแสดงอารมณ์ชัดเจน
เมื่อลูกเริ่มทดลองพูดสิ่งที่ได้ยินมาทันทีและแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้ลูกพูดแสดงอารมณ์ชัดเจน จนบางครั้งอาจทำให้ลูกดูกร้าวร้าวและมีปัญหาขึ้นมาได้ จะต้องอาศัยประสบการณ์ที่ลูกจะได้เรียนรู้ต่อไปในอนาคตค่ะ
มีความขัดแย้งในใจ
เมื่อลูกเข้าสู่วัยนี้ พัฒนาการต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจก็เริ่มพัฒนามากขึ้น เริ่มต้องการทดสอบอำนาจที่มีเหนือพ่อแม่ จึงไม่อยากให้พ่อแม่ทำให้ทั้งหมด แต่ด้วยความสามารถของเด็กวัยนี้ยังต้องพึ่งพ่อแม่อยู่ บางครั้งลูกเลยเกิดความขัดแย้งในใจ เวลาที่พ่อแม่บอกให้ทำอะไร ก็จะเกิดการต่อต้านขึ้น อยากจะเลือกเอง ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมลูกได้เหมือนเดิม จนกลายเป็นความไม่เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่ายได้ค่ะ
วิธีรับมือกับเด็ก 2 ขวบ
ยอมรับ
คุณแม่ควรเข้าใจลูกบ้างว่าการที่ลูกดูดื้อ ดูร้ายหรือแปรปรวนเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่เกิดขึ้นตามวัย ซึ่งลูกยังขาดทักษะในการจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึก คิดในทางที่ จึงเป็นโอกาสที่คุณแม่ได้สอน สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตของลูกในวันข้างหน้าค่ะ
ใจเย็นๆ
เมื่อลูกไม่ได้ตั้งใจ ก็อาจจะพูดจาแสดงอารมณ์ หรืออาจถึงขั้นลงไปร้องไห้ลงไปนอนกับพื้นเลยก็ได้ ในกรณีนี้ให้คุณแม่พยายามใจเย็น อย่าใช้อารมณ์ตอบโต้กับลูก ให้ลองพยายามเบี่ยงเบนความสนใจ อธิบายว่าทำไมเหตุการณ์ถึงเป็นแบบนี้ค่ะ
ยืดหยุ่นตามสมควร
คุณแม่ควรยืดหยุ่นตามสมควร เพราะนอกจากจะเป็นวัยที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางแล้ว ลูกยังมีแรงต่อต้านต่อการบังคับ ไม่เชื่อฟัง คุณแม่จึงควรยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ทั้งนี้สิ่งไหนที่เป็นกฎหรือกติกาที่ตกลงกันไว้แล้ว ก็ไม่ควรโอนอ่อนตามใจเขาโดยไม่มีเหตุผล ไม่อย่างนั้นลูกอาจจะเคยตัวและไม่เคารพกฎที่ตั้งไว้ร่วมกันเลยก็ได้ค่ะ
หาวิธีป้องกัน
ถ้าเป็นไปได้ ควรหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น ถ้ารู้ว่าลูกเจอแล้วจะหงุดหงิดแน่ๆ คุณแม่ก็สามารถเลี่ยงไม่ให้เห็นได้ สร้างอารมณ์ขันถ้ารู้ว่าอีกซักพักลูกจะหงุดหงิดแล้ว เป็นต้นค่ะ
มีกฎบางอย่าง
การมีกฎเกณฑ์และขอบเขตให้กับลูกเพราะบางครั้งเราต้องควบคุมลูกเพื่อความปลอดภัย เช่น เวลาไปเดินห้าง เราต้องหนักแน่น ใจแข็ง ถ้าลูกไม่ได้สิ่งที่อยากได้ก็อย่าใจอ่อน เป็นต้น
การใช้อารมณ์ควบคุมลูกนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนักเพราะลูกมีสิทธิต่อต้านคุณแม่ได้ ทางที่ดีคุณแม่ควรมีเหตุผลและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ดีที่สุดค่ะ
ที่มา