หลังจากคุณแม่ผ่านการคลอดมาแล้วมักจะมีปัญหาหนักอกหนักใจตามมา จะมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วจะมีวิธีการดูแลคุณแม่หลังคลอดอย่างไรบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ
ผิวแตกลาย
ผิวแตกลายของคุณแม่นั้นเกิดจากผิวหนังถูกยืดหรือดึงให้ขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว โดยมักเริ่มบริเวณหน้าท้อง ลามมาที่สะโพก หรือต้นขา โดยจะเกิดเป็นรอยทางยาวสีชมพูหรือแดง บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย ต่อมาจะมีสีเข้มขึ้นเป็นม่วง หรือดำ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาว รอยนี้จะกลายเป็นทางยาวซีดลงจนเป็นสีขาว และยังทำให้ผิวบาง บุ๋มลึกลงด้วยค่ะ
วิธีดูแล
- หมั่นดูแลทาครีม เพิ่มความชุ่มชื่นกับท้อง
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นตั้งแต่ระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อบรรเทาและป้องกัน
- รักษาโดยใช้ Laser ความยาวคลื่น 1550 nm ยิงลงไปสู่ผิวชั้นลึก เพื่อทำลายพังผืดด้านล่าง กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวเก่า
ฝ้า กระ
เนื่องจากฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น รวมทั้งฮอร์โมนใหม่ที่สร้างจากรก โดยระดับของฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นนี้ จะส่งผลให้ผิวของคุณแม่เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ มีฝ้า กระ ติ่งเนื้อ รอยดำคล้ำ หรือสีผิวมีเข้มขึ้นมาได้ค่ะ
วิธีดูแล
- การใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือยาทา เพื่อรักษาฝ้า กระและรอยคล้ำ เช่น ยาไฮโดรคิวโนน (Hydroquinone) กรดโคจิค (Kojic acid) หรือเจลวิตามินซี
- การใช้เลเซอร์ วิธีนี้มีหลักการทำงานด้วยการให้พลังงานแสงส่งไปยังบริเวณที่มีรอยคล้ำ จากกระ หรือฝ้า จะดูดซับพลังงานแสงแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน มีผลทำให้เม็ดสีเมลานินในบริเวณนั้นถูกทำลาย และมีจำนวนลดลงหรือหายไป ซึ่งเห็นผลรวดเร็ว แต่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง
- การใช้ทรีตเม้นท์บำรุง ในการรักษาฝ้า กระ โดยทรีตเม้นท์จะมีส่วนผสมของกรดไกลโคลิก (Glycolic acid) ที่จะผ่านลงไปในผิวหนังชั้นนอกสุด และไปขัดขวางการยึดเกาะของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกหลุดออก ทำให้เกิดเซลล์ผิวใหม่ขึ้นแทนที่
ผิวหนังขาดความกระชับ
ผิวหนังที่หย่อนยานนั้นเกิดจากในระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะเก็บสะสมไขมันไว้ตามต้นแขน สะโพก และหน้าท้อง แต่เมื่อคลอดลูกแล้ว น้ำหนักจะหายไปทันที 5-6 กิโลกรัม เมื่อผิวที่เคยขยายเมื่อตั้งครรภ์ เกิดการยุบลงอย่างรวดเร็ว มักพาปัญหามาด้วย นั้นก็คือผิวหนังที่หย่อนยาน ขาดความกระชับค่ะ
วิธีดูแล
- การให้นมลูก จะช่วยให้หุ่นคุณแม่เฟิร์มอย่างรวดเร็ว
- คุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารอย่างพอดี และมีประโยชน์ เพราะร่างกายของคุณแม่ยังอยู่ในช่วงพักฟื้น จึงต้องการสารอาหารที่หลากหลาย
- ควรลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล และควรเลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ
- ดื่มน้ำให้มากพอ
- ออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- การพักผ่อนให้เพียงพอ
ท้องผูก
ท้องผูกเป็นอาการที่คุณแม่หลังคลอดมักจะเป็นกัน สาเหตุเกิดจากการที่ระบบต่างๆ และฮอร์โมนในร่างกายยังทำงานไม่ค่อยคงที่ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนลำไส้ที่ยังทำงานไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เกิดความกังวลว่าจะทำให้แผลเย็บหลังคลอดอาจปริแตกได้ จนทำให้เกิดปัญหาที่ไม่สบายตัวของคุณแม่ ซึ่งอาจกลายเป็นความเครียดสะสมได้
วิธีดูแล
- เลือกทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ลูกพรุน กล้วยน้ำว้า แอปเปิ้ล มะละกอสุก เป็นต้น
- ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 8-12 แก้วต่อวัน เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- เมื่อคุณแม่คลอดแล้ว 2 – 4 สัปดาห์ สามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้ เช่น การทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการเดินออกกำลังกาย
- การขมิบอุ้งเชิงกราน สามารถช่วยแก้อาการท้องผูกได้
ผมร่วง
อาการผมร่วงหลังคลอดไม่ใช่อาการผิดปกติ แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นนานที่สุดไม่เกิน 120 วัน คุณแม่ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับผมร่วงนะคะ เมื่อฮอร์โมนกลับสู่ระดับปกติ ก็จะมีผมขึ้นใหม่ดีเหมือนเดิมค่ะ
วิธีดูแล
- รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างเส้นผมได้
- ไข่แดง (สัปดาห์ละ 3 ฟอง)
- ผักที่มีสีเขียวเข้ม (เช่น ผักคะน้า ผักโขม)
- อาหารทะเลที่มีสังกะสีสูง เช่น หอยต่างๆ
- ควรสระผมด้วยแชมพูอ่อนๆ ร่วมกับการนวดศีรษะเป็นระยะๆ ในขณะที่สระผม เพื่อให้มีเลือดมาเลี้ยงที่ศีรษะมากขึ้น
- ถ้าคุณแม่ไม่มีปัญหาสุขภาพ อาจมีการนอนศีรษะต่ำสักวันละ 10-15 นาที เพื่อให้เลือดลงมาเลี้ยงที่หนังศีรษะมากขึ้น
เมื่อรู้สาเหตุของปัญหาหนักอกของคุณแม่หลังคลอด พร้อมวิธีการดูแลแล้ว คุณแม่ก็สบายใจหลังคลอดแล้วนะคะ
ที่มา